“ภาวะผู้นำเกิดจากคนอื่นเชื่อมั่นและศรัทธา ในสิ่งที่ผู้นำทำ ไม่ใช่เกิดจากการที่ผู้นำบอกว่าต้องมีภาวะผู้นำแต่อย่างใด” (นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายให้นักศึกษาหลักสูตรบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง ในหัวข้อประเด็นร่วมสมัย พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมไทยท่ามกลางความเปราะบางและการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567)
การลงพื้นที่ไปให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แม้จะพยายามระวังตัวไม่ให้สุ่มเสี่ยงเรื่องข้อกฎหมาย แม้ตนเองจะได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทำให้ยังไม่สามารถสั่งการหน่วยงานราชการต่างๆได้
และถึงแม้จะมีการจับผิดเรื่องท่วงท่าในการผัดข้าวหรือแม้แต่ไฟในเตา แต่เป็นเพียงกระพี้การเมือง หากแต่สิ่งที่เป็นหลักการคือ การแสดงความใส่ใจ ได้รับรู้และสัมผัสกับปัญหาโดยตรง โดยมีภาพปรากฏออกมาเป็นที่ประจักษ์ แม้จะมีการประสานงานสั่งการต่างๆ โดยได้สื่อสารผ่านโลกออนไลน์แล้วก็ตาม หากแต่การบริหารจัดการในฐานะผู้นำนั้น จำเป็นต้องผสมผสานและมีศิลปะในการสื่อสารทางการเมือง
นางสาวแพทองธาร จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้ได้แสดงภาวะผู้นำ ที่ประชาชนอุ่นใจและเชื่อใจว่าเป็นที่พึ่งพาได้อย่างไร ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ
โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร ที่เราๆท่านๆ ได้เห็นกระบวนการท่าต่างๆของนักการเมืองที่ต่างงัดกลยุทธ์กันออกมานั้น อาจไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นั่นคือกลยุทธ์ในการส่งหนังสือทวงเก้าอี้รัฐมนตรี ไปยังนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ จากซีกที่สนับสนุนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่หากอ่านกันว่าไม่น่าจะหวังเพียงเก้าอี้รัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว หากแต่ยังเป็นการพิสูจน์ถึง ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ถูกปรามาสว่าอยู่ภายใต้เงาของบิดา จนพรรคเพื่อไทยจึงต้องแก้เกมด้วยการใช้มติพรรคตัดพรรคพรรคพลังประชารัฐออกจากการร่วมรัฐบาล
และนับจากนี้จะมีอีกหลายโจทย์ใหม่ ที่จะพิสูจน์ภาวะผู้นำของนางสาวแพทองธาร