จากวิบากกรรมของอดีตพรรคก้าวไกลนั้น นัยหนึ่งถูกมองว่าเป็นชัยชนะของขั้วอนุรักษ์ที่ได้เปรียบในดุลอำนาจใหม่
กระนั้น หากพิเคราะห์ลงไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังที่นำมาเผยแพร่นี้ จะเห็นว่าผลนั้นเกิดแต่กรรม ทีทำให้พรรคก้าวไกล ต้องถูกสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
“คดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันและมูลคดีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไต่สวนพยานหลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ" ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์
เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
การยุบพรรคการเมืองต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง กฎหมายดังกล่าวใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากมีพฤติการณ์ร้ายแรงกฎหมายจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใดต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศการแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และวรรคสอง แล้ว ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง สอดคล้องกับระยะเวลาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรคสอง”
ไม่มีซ้ายไม่มีขวา มีแต่พิฆาตตัวเอง