ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ
อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยรังสิต
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราได้เสียนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไปจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 มาอย่างสดๆร้อนๆเช่นกัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ และยังมีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย สัปดาห์นี้เราจะเกาะกระแสการเมืองด้วยการส่องเทรนด์ผู้นำของโลกกันว่าเป็นอย่างไร พร้อมแล้วลุยครับ
จากเอกสารของ Pew Research Center ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า ในบรรดาผู้นำประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ราวๆ 30 กลางๆ ถึง 91 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยอายุของผู้นำประเทศอยู่ที่ 62 ปี เรียกได้ว่า คนอายุราวๆนี้เป็นผู้นำประเทศกันมากที่สุดว่างั้นเถอะ ในขณะที่อายุช่วง 30-40 ปี มีอยู่ราวๆ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจอีกว่า ประเทศที่มีเสรีภาพต่ำ หรือมีการปกครองที่ค่อนข้างเป็นเผด็จการ จะมีผู้นำที่อายุค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบแอฟริกา โดยมีอายุเฉลี่ยราวๆ 80 ปี เช่น นามีเบียน เป็นต้น หรือบางรายก็อยู่จนตายคาทำเนียบเลยก็มี ในส่วนของเพศนั้น ผู้นำทั้งหญิงและชายมีอายุโดยเฉลี่ยเท่าๆกัน คือราวๆ 62 ปี และเกือบทุกประเทศ ผู้นำจะมีอายุมากกว่าอายุเฉลี่ยของคนในชาติ
แล้วเพศหญิงล่ะ ในโลกนี้มีเป็นผู้นำอยู่ทั้งหมดกี่คน?
จากการศึกษาพบว่า ในโลกนี้มีผู้นำหญิงอยู่จำนวนไม่น้อย แต่น้อยหากเทียบกับผู้ชาย และการเป็นผู้นำของประเทศก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การเป็นประมุขของรัฐ หรือประมุขของรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งหากโฟกัสที่ผู้หญิงที่บทบาทในการบริหารประเทศจริงๆจะพบว่า ปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งสิ้น 12 คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอายุโดยเฉลี่ยของผู้นำจะอยู่ที่ราว 60 ปี แต่เทรนด์หรือแนวโน้มนั้นกลับกำลังเปลี่ยนแปลง ประเทศต่างๆทั่วโลกเริ่มมีผู้นำที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศต่างก็วิเคราะห์ในทิศทางเดียวกัน ว่าเหตุผลกลไกนั้นน่าจะมาจากการที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยี ผู้คน ความต้องการ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีอัตราเร่ง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อทั้งโอกาสและอุปสรรคของประเทศต่างๆ การมีผู้นำที่อายุน้อยอาจหมายความถึงความทันสมัย ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เข้าใจเรื่องใหม่ๆของโลกที่เป็นได้ทั้งโอกาสและภัยคุกคามในเวลาเดียวกัน กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้นำในยุคปัจจุบันและอนาคต ที่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ “ไม่เหมือนเก่า” อีกต่อไป อาทิ
1) ความสามารถในการปรับตัวกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความสามารถในการเข้าใจและใช้ AI 2) ความเป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย ตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งมิติของเพศ เชื้อชาติ ภาษา ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ และแม้แต่ความแตกต่างทางความคิด ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งกว้าง ลึก และเร็ว 3) ความเป็นผู้นำที่ลงมาคลุกคลีกับผู้คนได้ ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนวิมานหินอ่อน ซึ่งแน่นอนต้องมาพร้อมแรงกายที่สมบูรณ์ รวมไปจนถึง 4) การพร้อมจะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ในทุกๆมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี
ซึ่งนี่ล้วนแล้วแต่เป็นข้อได้เปรียบของ “คนหนุ่มสาว” ทั้งสิ้น
นี่อาจเป็นเหตุผลให้เทรนด์อายุของผู้นำลดลง แต่จะลดลงต่อไปอย่างมีนัยสำคัญดังทฤษฎีที่คิดกันไว้หรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
สิ่งนี้สำคัญอย่างไร?
หลายท่านอาจเคยได้ยินคนพูดว่า “การเมืองเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว” คำกล่าวนี้อาจมีข้อโต้แย้งในหลายๆมิติ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้สนับสนุนคำกล่าวนี้อธิบายไว้ได้น่าสนใจ ก็คือ คนที่เห็นโลกมามาก หลายคนก็ปลงกับโลก ด้วยความเข้าใจโลกที่มากขึ้นตามวัย จึงอาจไม่ได้โหยหาการเปลี่ยนแปลงมากเหมือนคนหนุ่มสาวที่หิวโหยการเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์ที่มีในวัยฉกรรจ์ ซึ่งเป็น “สิ่งสำคัญยิ่ง” ในทางการเมืองและการแก้ปัญหาของประเทศชาติ
วันนี้ประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เป็นผู้หญิงและอายุน้อย จะบอกว่าไทยกำลังนำเทรนด์ของโลกในด้านผู้นำก็ไม่ผิด ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไรก็คงอยู่ที่เราๆท่านๆด้วยเช่นกันที่จะช่วยกันส่งเสียงบอกกล่าวไปยังผู้นำ ซึ่งหากเป็นไปตามที่นักวิชาการวิเคราะห์ไว้ เชื่อคุณสมบัติของคนหนุ่มคนสาวที่นายกอิงค์มี น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยได้ไม่น้อย
สุดท้ายก็ต้องอวยพรให้นายกคนใหม่ทำหน้าที่ได้ดี ใช้จุดแข็งของการเป็นคนรุ่นใหม่ นำพาคนทุกรุ่นทุกวัยไปสู่ความสำเร็จพร้อมกัน
เอวัง