ในขณะที่รัฐบาลไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อนายเศรษฐา ทวิสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดทางจริยธรรมจากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ โดยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะด้วยนั้น  

ทำให้ประชาชนกว่า 30 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม2567)ผู้ลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตเกิดความหวั่นไหวว่านโยบายดังกล่าวนั้นจะได้ไปต่อหรือไม่ เนื่องจากต้องรอรัฐบาลใหม่แถลงนโยบาย แม้จะมีการยืนยันผ่านเพจทางการของพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม แต่ก็มีความเห็นของนายปกรณ์​  นิลประพันธ์​  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าโดยหลักแล้วโครงการดังกล่าวควรจะหยุดลง​ และไม่จำเป็นต้องกลับไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

แม้จะเชื่อกันว่า นี่อาจเป็นทางลงให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในการแก้ไขปัญหาโครงการเงินดิจิทัล ที่ยังคงเป็นปัญหาในรายละเอียและส่อว่าอาจจะถูกตรวจสอบและฟ้องร้องตามมาในอนาคตนั้น ให้โครงการนี้ไปพร้อมๆกับตัวนายกรัฐมนตรี

ในระหว่างที่เงินดิจิทัลของไทยยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ แต่รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมจะแจกเงินสดสูงสุด 10,000 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชนเช่นกัน  โดยชาวสิงคโปร์จำนวนกว่า 2.4 ล้านคน จะได้รับเงินสดช่วยเหลือสูงสุด 400 ดอลลาร์ (10,000 บาท) ในเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ชาวสิงคโปร์ที่เข้าเกณฑ์ จะได้รับเงินระหว่าง 200 (5,000 บาท) ถึง 400 ดอลลาร์ (10,000 บาท) ซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้รับด้วยโดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือกับปัญหาค่าครองชีพ เงินอุดหนุนดังกล่าว จะจ่ายให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนที่อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป และจะต้องไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเองมากกว่า 1 รายการ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะเพิ่มแพคเกจประกันอีก 1.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยเหลือปัญหาค่าครองชีพอีกด้วย

อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นข้อดี ให้รัฐบาลไทยได้มีเวลาพิจารณาผลลัพ์ธ รูปแบบ จากประเทศเพื่อนบ้าน และถือโอกาสในการปรับเปลี่ยนรายละเอียดรวมทั้งแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่มีปัญหา ถ้าจะไปต่อ เพราะคนที่รอ 30 ล้านคนนั้น พวกเขาอาจจะท้อและแปรเปลี่ยนเป็นอารมณ์ความรู้อื่นๆที่ยากจะจินตนาการ