พรรคการเมืองที่หาเสียงไว้แล้วไม่สามารถทำตามได้ หรือทำได้แต่ไม่ตรงปกนั้น แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับพรรคการเมืองเหล่านั้น ด้วยจากปัจจัยในการเลือกตั้งของประชาชนนั้นมีหลายมิติ ทั้งนโยบาย พรรคและคน

แต่หากมีผู้เสียหาย เช่น ประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมืองนั้นๆ โดยมีหลักฐานว่าเขาลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองดังกล่าว ด้วยเพราะชอบนโยบาย จะเข้าข่ายหลอกลวงให้เลือกหรือไม่ ตรงนี้น่าสนใจ

โดยเฉพาะนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์หาเสียงไว้ ล่าสุดทางการให้เริ่มลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ สำหรับผู้มีสมาร์ทโฟนมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2567 มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจไม่ได้รับเงินจริงและหรือใช้จำนวนคนลงทะเบียนมาตั้งโครงการเพื่อก่อหนี้ผูกพันข้ามปี

แม้จะเชื่อกันว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล และหวังให้เม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศษฐกิจ และฉุดเรตติ้งการเมือง โดยเฉพาะในช่วงใกล้เลือกตั้งนายกอบจ.ในต้นปีหน้าก็จริงอยู่ แต่หากโครงการไม่ได้ไปต่อด้วยมีผู้เสียหายหรือผู้ร้องต่างๆไปฟ้องต่อศาล ก็ไม่ใช่เป็นความผิดของรัฐบาล และอาจเป็นทางลงด้วยซ้ำไป และมีคำตอบให้กับประชาชน

ถอยมาจากเรื่องมหภาพมา หากคำนวณไม่ผิด เงินเดือนของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่เดือนแรกน่าจะได้รับไปแล้ว หลังจากวันที่บทบรรณาธิการนี้ได้พิมพ์เผยแพร่ โดยที่บุคคลบางคน ซึ่งมีเบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ตรงปกยังทำหน้าที่อยู่ในสภาผู้ทรงเกียรติ

ทฤษฎีที่ว่า คนไทยลืมง่าย และหลักการข่าวใหญ่ถูกข่าวที่ใหญ่กว่ากลบ ยังใช้ได้ในปัจจุบัน!?

จริงๆ ทฤษฎีคนไทยลืมง่ายในยุคดิจิทัลนั้น ไม่น่าจะใช้ได้แล้ว และยากที่คนไทยจะลืมง่ายๆ  เพราะดิจิทัลฟรุตพรินต์ มันฟ้องตัวตนแม้จะลบอย่างไร ก็มีคนแคปทัน

 เพียงแต่คนไทย (บางส่วน)เรียนรู้ว่า แม้จะร้องแรกแหกกระเฌอไปก็ไม่มีผลอะไร นั่นต่างหากที่ทำให้พวกเขาแค่เงียบเสียงลง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาหลงลืมไปจากสมอง แต่เชื่อเถอะ พวกเขายังคงเฝ้าจับตามอง