รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ หรือ Public Opinion Poll (POP) เป็นการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปแนวโน้มความคิดเห็นของประชากรกลุ่มใหญ่ ในยุคดิจิทัล POP ได้กลายเป็นเครื่องมือทรงพลังใน "สงครามข้อมูล" (Data War) ที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัท รัฐบาล และผู้บริโภคไปโดยปริยาย
ในมุมหนึ่งการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะก็คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อเอาชนะการต่อสู้ เพื่อสร้างความสนใจ และเพื่อสร้างอิทธิพล ในยุคดิจิทัลนี้เป็นเรื่องง่ายดายมาก ๆ เมื่อผู้ผลิตหรือเจ้าของข้อมูลต้องการเผยแพร่ข้อมูล เพราะข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นสามารถนำขึ้นเผยแพร่บนทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งแบบส่วนตัวและองค์กร นอกจากนี้ข้อมูลผลสำรวจยังได้รับความคุ้มครองจากสื่อที่โดดเด่น ช่วยเสริมศักยภาพของประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมแบบเรียลไทม์
สำหรับวิธีการสำรวจโพลและนำข้อมูลมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบนั้น อาทิ
หนึ่ง การแพร่กระจายของโพลดิจิทัล ความง่ายและคุ้มค่าในการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นทางออนไลน์ได้นำไปสู่การแพร่กระจายของการสำรวจทางดิจิทัลที่ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ แอป และโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่แบบสำรวจที่ซับซ้อนไปจนถึงแบบสำรวจที่มีคำถามเพียงข้อเดียว แบบสำรวจดิจิทัลเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้ทันที
สอง การรายงานข่าวจากสื่อที่โดดเด่น ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะมักปรากฏให้เห็นเด่นชัดในข่าว บทวิจารณ์ และสื่อการรณรงค์ ด้วยการพาดหัวข่าวและนำเสนอด้วยภาพที่สะดุดตาเพื่อเน้นย้ำถึงความโดดเด่น สื่อต่างยกให้การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
สาม การมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชน ศักยภาพของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะไม่เพียงแต่จะวัดผล แต่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย การสำรวจอย่างรวดเร็วบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียสามารถกระตุ้น
การอภิปรายและวัดผลการตอบสนองต่อประเด็นปัญหา ผู้นำ และกิจกรรมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์
สี่ การสำรวจความคิดเห็นโดยพลเมือง แพลตฟอร์มดิจิทัลอนุญาตให้ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหว และบล็อกเกอร์ทำการสำรวจความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการของตนเองและขอความคิดเห็นจากสาธารณะ การสำรวจความคิดเห็นที่ริเริ่มโดยพลเมืองสามารถนำมาใช้เพื่อปะกอบการอภิปรายได้
ห้า การลงคะแนนสดระหว่างการดำเนินกิจกรรม/รายการ “โพลสด” หรือการทำโพลเรียลไทม์สามารถบันทึกปฏิกิริยาของผู้คนต่อการกล่าวสุนทรพจน์ การอภิปราย และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์จะแสดงให้เห็นพร้อมกันหรือในเวลาเดียวกันทำให้ผู้ชมเห็นความผันแปรของความคิดเห็นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ “สด” ในประเด็นร้อนที่ส่งผลกระทบสูงก็จะมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจเป็นจำนวนมาก
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังใน "สงครามข้อมูล" ที่กำลังดำเนินอยู่ ก็เพราะ ในอีกด้านหนึ่ง “สงครามข้อมูล" หมายถึง การแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่างองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ในการรวบรวมและใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการโฆษณาและการตลาด ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ การมาถึง ของยุคตื่น AI หรือ GenAI Gold Rush ที่บรรดาบริษัทเทคต่าง ๆ ทยอย “ปล่อยของ” หรือ AI / GenAI มาให้ผู้เล่นส่วนบุคคลและองค์กรเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนใช้งาน ส่งผลให้บริษัทเทคเหล่านี้ต่างต้องการ “ข้อมูล” เพื่อนำเอามาเป็นวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นสำหรับการผลิตคอนเทนต์ใหม่ ๆ
จากความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในแวดวง “ข้อมูล” สวนดุสิตโพล จึงต้องขยับตัว !!! ปรับองค์กรให้มีความเป็น “เจ้าข้อมูล” ด้วยการผลิตคอนเทนต์ผลสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมกับปรุงใส่ความคิดเห็นหรือบทวิเคราะห์ที่เป็นมุมมองใหม่ ๆ หรือมุมมองเชิงวิชาการที่ก้าวหน้าเพื่อเป็นต้นแบบให้กับทุกสังคม สามารถชี้นำเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการสร้างหรือ แผ่ขยายความยอมรับแบบไร้พรมแดนทางภูมิศาสตร์โดยไม่มีกำแพงภาษาเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงข้อมูล
ยิ่งไปกว่านั้น สวนดุสิตโพล ต้องจับอารมณ์สังคมและประชาชนและ/หรือกระแสสังคมให้ว่องไว กระชับ และรวดเร็ว แต่ยังคงรักษาความถูกต้อง ความแม่นยำ และความสม่ำเสมอเอาไว้ เพื่อให้ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะหรือการทำโพลเป็นทั้งการซัปพอร์ต (Support) และกระจก (Mirror) สะท้อนความคิดเห็นอันหลากหลายที่เป็นธรรมและเที่ยงตรงให้กับ “คน” ทุกกลุ่มก้อน
ภายใต้ยุคดิจิทัลนั้นข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การแยกแยะข้อมูลจริงจากข้อมูลปลอมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อโพลเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสำรวจความคิดเห็น แต่ก็สามารถถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามข้อมูลได้เช่นกัน ดังนั้น ทุกคนต้องมีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกบิดเบือนความคิดเห็น และใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
นี่คือ “ก้าวใหม่” และ “ก้าวต่อไป” เมื่อ “สวนดุสิตโพล”... ต้องขยับตัว(กันใหม่)ครับ !!