ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

สัปดาห์ที่แล้วเราได้คุยกันถึงผลกระทบต่อนโยบายของประเทศต่างๆ ที่มีมุมมองต่อจีนแตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่า แน่นอนครับ มุมมองบวกหรือลบต่อจีนย่อมมีผลกระทบต่อนโยบายของประเทศต่างๆไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป สัปดาห์นี้มาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์ “ความรู้สึก” ของชาติต่างๆต่อ “จีน” แล้วครับ ซึ่งในตอนนี้จะขอเสนอเรื่อง “ที่มาที่ไปของมุมมองต่อจีน” ซึ่งต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า สัปดาห์นี้ผมได้คำถามที่สำคัญมาจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่งที่ถามมาครับ คำถามนั้นคือ!

มุมมองต่อจีน (ทั้งบวกและลบ) นั้นเกิดจากการ “ปั่น” โดยรัฐ หรือสื่อ หรืออะไรกันแน่?

ประเด็นแรก และเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนก็คือ ในการปกครองของประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว “รัฐ” “สื่อ” และ “ความรู้สึกของประชาชน” สามอย่างนี้จะเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกได้ยากครับ 

โดยความเชื่อมโยงของสามสิ่งนี้มีได้หลายรูปแบบ เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกว่าได้ว่า เป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ในเวลาเดียวๆกัน นโยบายและบทบาทของรัฐ ย่อมส่งผลต่อสิ่งที่สื่อจะสื่อสารออกไป และก็จะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่สร้างหรือเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของประชาชน ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกของประชาชน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งที่สื่อจะสื่อสารออกไป และอาจไปกระทบต่อการออกนโยบายของรัฐได้เช่นกัน หรือในบางประเทศ สื่ออาจจะมีพลังมาก ชนิดที่สามารถกระทบความรู้สึกและความต้องการของประชาชนได้ จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ หรือออกสื่ออาจจะมีพลังมากในแง่อำนาจจนสามารถทำให้รัฐปรับนโยบายได้ และมีผลต่อประชาชนในที่สุด

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือความเป็นไปได้เพียงสังเขปที่เกิดขึ้นในเวทีการเมืองทั่วโลก ส่วนความสัมพันธ์จะเริ่มต้นจากปัจจัยไหน ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ ถ้าระดับประชาธิปไตยสูงก็อาจจะเริ่มจากความรู้สึกของประชาชน ถ้าประชาธิปไตยน้อยหน่อย ก็อาจจะเริ่มจากรัฐและใช้สื่อเป็นเครื่องมือ อะไรทำนองนั้น แต่กล่าวโดยสรุปได้ว่า “รัฐ สื่อ ความรู้สึกของประชาชน” เป็นสามสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกขาดได้ยาก

เมื่อย้อนกลับมาดูเรื่องความรู้สึกของชาติต่างๆต่อจีน ในฝั่งของกลุ่มที่มีมุมมองลบต่อจีน เป็นที่เข้าใจได้หลายมิติเช่นกัน เช่น อาจเกิดจากการที่ประชาชนไม่พอใจจีนในมิติของการเข้าไปลงทุนหรือทำงานในประเทศต่างๆ จนลามมาเป็นนโยบายของรัฐเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมือสื่อเป็นตัวช่วยผลักดัน หรืออาจเป็นเพราะรัฐบาลมีทิศทางทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจยืนตรงข้ามจีน แล้วจึงใช้สื่อเป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบของประชาชน ก็ได้เช่นกัน

ในกลุ่มก้อนที่มองจีนในมุมบวก ก็อาจเกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมาได้เช่นกัน เปลี่ยนเพียงความรู้สึกลบ เป็นบวก

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงจะพอมองออกใช่ไหมครับ ว่าสุดท้ายแล้ว เหตุผลกลไกลึกๆ ก็คือ “ผลประโยชน์” นั่นเอง

ใช่แล้วครับ ผลประโยชน์ นี่แหละครับคือหัวใจที่แท้จริงของการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ ย่อมหมายถึงผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถแตกย่อยออกไปเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆได้อีกมากมาย

สำหรับประเทศไทยของเรา เรามีมุมมองด้านบวกต่อจีน ซึ่งในมิตินี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งจากการลงทุนของจีน การเข้ามาท่องเที่ยวของคนจีน และความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย เริ่มมีมุมมองด้านลบต่อจีนมากขึ้น ซึ่งส่วนมากก็มาประชาชนระดับรากหญ้า ที่เริ่มบ่นกันว่า ทำไมคนจีนมาตั้งธุรกิจเยอะจัง ง่ายจัง จนเรียกว่า ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของคนไทยเริ่มประสบปัญหาเพราะ “สู้ไม่ไหว”

สถานการณ์เช่นนี้ ผมมองว่าเป็นสถานการณ์ที่จะพิสูจน์สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดได้อย่างดีครับ เรามารอดูไปพร้อมๆกันครับว่า หลังจากนี้ ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยต่อจีนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และสื่อจะเป็นกระบอกเสียงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในนโยบายของภาครัฐได้หรือไม่ และภาพสุดท้ายจะไปลงตัวอยู่ที่จุดใด

เฝ้าดูไปด้วยกันนะครับ

เอวัง