ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า สาเหตุของที่การค่ายรถย้ายฐานการผลิตและโรงงานผลิตชิ้นส่วนปิดตัวลง ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP โตน้อยกว่าร้อยละ 2 โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2566 สืบเนื่องจากผลกระทบของปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวด โดยเฉพาะรถกระบะ (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตหรือใช้รถกระบะ BEV) เพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้จากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง ทั้งนี้สภาพตลาดในประเทศที่ชะลอตัวจากเหตุผลข้างต้น ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องลดกำลังการผลิต และผู้ผลิตรถยนต์ 2 ราย มีแผนที่จะปิดโรงงาน โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. โรงงานซูบารุ ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยุติการผลิตในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป
ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกไปไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ซูบารุ มีพนักงาน 400 คน ในปี 2566 มีการผลิต/จำหน่ายรถยนต์รวม 1,600 คัน โดยนำเข้าชิ้นส่วนจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่
2. โรงงานซูซูกิ มีพนักงานจำนวน 800 คน ประกาศเตรียมยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2568 เนื่องจากการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก ถึงแม้จะยุติการผลิตในประเทศ ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ส่งให้กับบริษัท ซูซูกิฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการผลิตส่งให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นด้วย โดยในปี 2566 มีการผลิตประมาณ 11,000 คัน
จากข้อมูลดังกล่าว ไม่ควรมองว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ เป็น “ตัวการ” หรือเป็น “ผู้ร้าย” ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าว เพราะอาจสรุปง่ายและสรุปเร็วเกินไป เนื่องจากประเทศไทยต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ สัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 20 ในค.ศ. 2050 หรือพ.ศ 2593 ในขณะเดียวกันยังคงเปิดกว้าง ไม่ห้ามนำเข้านำเข้ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) อย่างเช่นบางประเทศ เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว
ดังนั้นไทยต้องคำนึงถึงกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องไม่เพิกเฉยต่อสัญญาณอันตราย ที่มีการปิดโรงงานและปลดพนักงาน จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งในภาคแรงงาน ภาคสังคม รวมทั้งสาธารณสุข โดยเฉพาะสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องที่ทุกองคาพยพต่างๆ ต้องขับเคลื่อนและบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เช่น เดียวกับการรับมือการปิดโรงงานและการผลดพนักงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ
ที่สำคัญคือมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากรัฐบาลอย่างยั่งยืน และต่อเนื่อง ขยายผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น