วันก่อนมีข่าวจับกุมบุคคลแอบอ้างเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ ขณะกำลังบรรยายภายในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในจ.นนทบุรี

โดยบุคคลนี้อ้างตนเป็นที่ปรึกษาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เมื่อตรวจสอบพบว่าช่วงปี 2565 เคยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน แต่ไม่ได้จัดพื้นที่หรือห้องให้ปฏิบัติงาน และพบว่าบุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมแต่งกายคล้ายเครื่องแบบปกติขาวและกากี โดยประดับเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด และโพสต์ภาพสู่สาธารณะ จนทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ

เบื้องต้นนักงานสอบสวน แจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141

ข่าวนี้ทำให้หวนคิดถึงกรณีของสว.หญิงท่านหนึ่ง ซึ่งกรอกประวัติเป็น “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและความงาม” ซึ่งไม่ได้เป็นความเชี่ยวชาญที่มีการรับรองโดยแพทยสภา มีมติให้ฝ่ายจริยธรรมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาประกอบการพิจารณา เช่น ขอเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  และเอกสารจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกสารจากเจ้าตัว เพื่อมาตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่น่าห่วงใยคือบุคคลอย่างที่แอบอ้างเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการนั้น จะเดินเข้าสู่ศูนย์อำนาจของประเทศนี้มาแล้วกี่คน ที่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นได้ใช้การแอบอ้างนี้แสวงหาประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ทั้งในภาครัฐและเอกชน หากวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ผลออกมาเป็นคุณ ก็ฝากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ช่วยสังคยานาบุคคลเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติด้วย