รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้กลับมาจัดทำดัชนีการเมืองไทยรายเดือนตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยสำรวจดัชนีการเมืองไทยแล้วได้หยุดไปในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง สำหรับดัชนีการเมืองไทยล่าสุดประจำเดือนกรกฎาคม 2567 นับเป็นการสำรวจครั้งที่ 7 ของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ผ่านตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในประเด็นต่าง ๆ ครอบคลุมผลงานของรัฐบาล ผลงานของฝ่ายค้าน พฤติกรรมนักการเมือง สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม ค่าครองชีพ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ผลการสำรวจดัชนีการเมืองไทยตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองและสังคมไทย ปรากฏว่าดัชนีการเมืองไทยมีคะแนนลดลงในหลายตัวชี้วัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ปัญหาการว่างงาน ราคาสินค้าต่าง ๆ รวมไปถึงตัวชี้วัดด้านการทำงานของรัฐบาล ในด้านผลงานของนายกฯ แม้จะมีคะแนนลดลง แต่ก็มีคะแนนอยู่ในกลุ่มสูงของตัวชี้วัด สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนนั้นรับรู้การทำงานของรัฐบาลแล้วแต่อาจจะยังมีผลงานที่ยังไม่ตรงกับที่คาดหวังเท่าใดนัก
โดยปกติแล้วดัชนีการเมืองไทยจะสำรวจในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 30 ของทุกเดือน เนื่องจากเป็นการสอบถามความเห็นในภาพรวมของแต่ละเดือนจึงสำรวจในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของแต่ละเดือน ในเดือนนี้สำรวจระหว่างวันที่ 24 – 30 กรกฎาคม 2567 ซึ่งในเดือนนี้มีเหตุการณ์น่าสนใจหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของนโยบายเรือธง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่เริ่มลงทะเบียนในวันที่ 1 สิงหาคม การเลือกประธานวุฒิสภา การอภิปรายในสภา การเคลื่อนไหวพบปะกันของนักการเมืองหลายฝ่าย การประกาศตรึงราคาค่าไฟตามมติของ ครม. หรือประเด็นสังคมอย่างการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงกลางปีนี้หลากหลายและท้าทายอย่างยิ่งต่อการทำงานรัฐบาลในการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายที่ให้ไว้ โดยอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ราคาสินค้าค่าครองชีพ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า จนทำให้เกิดภาวะตกงาน ว่างงาน และการค้าขายที่ฝึดเคืองและยากลำบาก
นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว การจัดการกับปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนจับตามอง ทั้งกระแสข่าวมากมายที่โหมกระหน่ำพรรคเพื่อไทยก็เป็นประเด็นเที่ประชาชนสนใจว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป ไม่ว่าจะมีกระแสอย่างไรแต่สุดท้ายแล้วประชาชนก็มุ่งหวังเพียงว่าขอให้แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ก็พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมทุกโครงการ
ท่ามกลางประเด็นที่ร้อนแรงและประชาชนให้ความสนใจจึงส่งผลต่อการตัดสินใจให้คะแนนดัชนีการเมืองด้วยเช่นกัน การให้คะแนนที่ลดลงก็ไม่ได้แปลว่าคะแนนจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ หากเพียงแต่ดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ก็พอ อย่างนโยบาย “เรือธง” ที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นนโยบายหลักและหวังผลสูง หากดำเนินการเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ประชาชนก็ย่อมให้คะแนนเพิ่มแน่นอน
นอกจากนี้คำถามในดัชนีการเมืองไทยยังมีการสอบถามว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีผลงานโดดเด่นในสายตาประชาชนคือใคร และยังถามอีกว่าผลงานของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เข้าตาประชาชนคือผลงานอะไร คำตอบในเดือนนี้ก็จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นทิศทางการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าประชาชน “เทคะแนน” ให้กับเรื่องใดที่ “ชื่นชอบ” เพราะผลจากทุกเดือนที่ผ่านมา ก็ชี้ให้เห็นว่าการทำงานของนายกฯเศรษฐานั้นอยู่ในสายตาของประชาชนมาโดยตลอด รวมถึงบทบาทของนายพิธา หรือแม้แต่ รมว.อนุทินก็ตาม ผลงานที่เข้าตาของแต่ละคนก็มีมาต่อเนื่องหาใช่ว่าไม่มีเสียทีเดียว เพียงแต่จะสื่อสารการทำงานอย่างไรให้ประชาชน “รับรู้” และ “เข้าไปในใจ” ของประชาชนได้
ผลโพลดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนกรฎาคมนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะมีมุมมองอย่างไรต่อการนำ “ข้อมูลผลโพล” ไปใช้ในการตัดสินใจและวางแผนการทำงาน เพราะผลโพลก็คือ “เสียง” ของประชาชนที่ต้องการจะส่งไปให้ถึงหน่วยงานที่เป็นความหวังต่อการใช้ชีวิตของเขาหล่านั้น ซึ่งก็คือ “รัฐบาล” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการบริหารประเทศ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โดยมีฝ่ายค้านเป็นผู้ติดตามตรวจสอบการทำงาน
ดัชนีการเมืองไทยจะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับจะนำผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรนั่นเอง !!!