นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แถลงความชัดเจนของโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตด้วยตนเอง แต่เป็นการวางแผนการแถลงถึง 3 ช่วงเวลา โดยช่วงเวลาแรกนั้นกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ
นั่นก็ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า อาจเชื่อมโยงกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงคำวินิจฉัยคดีที่ 40 สว.ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง จากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กรณีการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีนั้น จะไม่กระทบต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยอยากให้แยกประเด็นปัญหาเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่ไม่ว่าใครจะมา ใครจะไป ก็จะทำในสิ่งที่มันต้องทำ
เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลนั้น ในความชัดเจนล่าสุด ระบุไว้ดังนี้
1. ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
2. สัญชาติไทย
3. มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
4. ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
5. ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก และ ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
โดยนโยบายตัดสิทธิ์เพิ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
2. ผู้ที่ถูกระงับสิทธิ์หรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการหรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐ
3. ผู้ที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการหรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐ
ทั้งนี้จะได้กดปุ่มใช้เงินดิจิทัลกันตาม ไทม์ไลน์คือภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ส่วนจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือแค่ฝนไล่ช้างต้องติดตามกันต่อไป