รัฐบาลเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ย้ำว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก ได้แก่
พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่
พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ
และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
นโยบายเงินดิจิทัลดังกล่าว ถือเป็นนโยบานเรือธงของรัฐบาลเศรษฐา และเป็นนโยบายที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ ซึ่งจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จให้ได้ ที่ไม่เพียงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่จะเป็นช่วยกระตุ้นคะแนนนิยม และความศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อรัฐบาลและต่อตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ในทางตรงกันข้าม หากกลับลำหรือพลิกพลิ้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด ก็อาจกลายเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและต่อตัวนายเศรษฐาเช่นกัน