ทวี สุรฤทธิกุล

ก่อน 22 สิงหาคม อยากด่าใครก็รีบด่า เพราะหลังวันนั้นจะมีคนพ้นโทษ แล้วจะด่า “คนดี” ไม่ได้

วันนี้มีประเด็นร่วมยุคอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องความพิสดารของวุฒิสภา หรือการได้มาของ ส.ว.ชุดล่าสุด ซึ่งผู้เขียนเคยล่วงรู้วิธีคิดอัน “พิสดาร” ของวุฒิสภาแบบนี้มาบ้าง จึงอยากเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าจะด่าคนที่รับผิดชอบได้ตรงตัว

 ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผู้เขียนเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และต้องทำหน้าที่ดูแลการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดนั้นอยู่ด้วย เพราะ สสร.ถูกตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เช่นเดียวกันกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาล ที่ต้องทำงานสอดคล้องกัน ตามนโยบายของ คมช. เป้าหมายสำคัญคือ “ล้างระบบการเมืองเก่า” หรือ “ระบอบทักษิณ” (ซึ่งก็ทำไม่สำเร็จ อย่างที่สื่อมวลชนยุคนั้นเรียกพวก คมช.ว่า “ปัสสาวะไม่สุด” และระบอบนี้ยังกร่างมาจนถึงปัจจุบัน)

ตอนนั้นผู้เขียนก็เป็นนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าอีกด้วย คือหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 11 ได้มีนักศึกษาท่านหนึ่งเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่(ขอสงวนนาม)ได้เสนอโครงงานเรื่องการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา มีคนแอบกระซิบบอกผู้เขียนว่า ท่านเป็นคนในกลุ่ม คมช. รวมถึงใกล้ชิดกับท่านประธานองคมนตรีในตอนนั้นอยู่ด้วย โครงงานของท่านจึงมีความน่าสนใจมาก เพราะมีคนบอกว่าอาจจะเป็น “ใบสั่ง” หรือรูปแบบของวุฒิสภาในอนาคต ดังนั้นคนที่อยากเป็นสมาชิกวุฒิสภาควรให้ความสนใจ ซึ่งผู้เขียนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ “หูผึ่ง” จึงอาศัยความเป็นนักวิชาการ ขอดูรายละเอียดจากนายทหารท่านนั้น บอกว่าเพื่อเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่จะเป็นประโยชน์ต่อวงการรัฐศาสตร์ไทย (ต้องอ้างใหญ่ไว้ก่อน เจ้าของไอเดียท่านจะได้ให้ความร่วมมือ)

ไอเดียของท่านเป็นแนวเดียวกันกับการได้มาของวุฒิสภาชุดที่เพิ่งปฏิญาณไปเมื่อวานซืนนั้นเปี๊ยบเลย คือมีการแบ่งคนไทยออกเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่ของท่านนายทหารท่านนี้ในตอนนั้นแบ่งเป็นมากกว่า 20 กลุ่ม (ถ้าจำไม่ผิด น่าจะ 25-30 กลุ่ม) แล้วให้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไปคัดเลือกคนในแต่ละกลุ่มละเท่า ๆ กัน (ตอนนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังร่างกำหนดให้มี ส.ว.แค่ 150 คน) มาเป็น ส.ว. ผมเลยถามเหตุผลว่า “เพื่ออะไร” ท่านตอบว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสง่างาม เพราะ ส.ว.จะต้องเป็นสภาพี่เลี้ยง คอยกลั่นกรองกฎหมาย คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่ ส.ส. และที่สำคัญเพื่อเสริมสร้าง “เสถียรภาพ” ให้กับรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องมีส่วนร่วมในการคัดเลือก ส.ว.เข้าสภา

แต่ประเทศไทยยังไม่ถึงคราวเคราะห์ เพราะไอเดียนี้ไม่ได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ก็มีประเด็น คือตอนนั้นพวก สนช.หลายคนเมื่อรู้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ใกล้เสร็จ ก็ไปวิ่งเต้นกับ คมช.เพื่อจะได้เป็น ส.ว.สืบต่อ เพราะ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มี 2 ประเภท ประเภทแรกมาจากการเลือกตั้งในทุกจังหวัด ๆ ละ 1 คน กับที่เหลือ 73 คนมาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการที่ คมช.ตั้งขึ้น บางคนก็เอาง่าย ๆ คือขอให้ คมช.ช่วยตั้งตนเองเข้าไปเลย แต่บางคนก็เผื่อเหลือเผื่อขาด แค่ไปขอเสียงจากฝ่ายมหาดไทยที่คุมกระบวนการเลือกตั้งในต่างจังหวัด โดยใช้อิทธิพลของทหารให้ช่วย “แนะนำ”

ที่พูดประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า “เชื้อโรค” เรื่องนี้มันถูกเพาะเชื้อในหมู่ชนชั้นนำของไทยมานานแล้ว อย่างน้อยในกลุ่มผู้ปกครองทั้งทหารและมหาดไทย ซึ่งมาโผล่ระบาดอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ก็เป็นระบบการสืบทอดอำนาจตามแนวคิดของชนชั้นปกครองอยู่ดังเดิม แม้ว่า “ขี้ฟัน” ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะพ่นออกมาว่าเป็นฉบับ “ปราบคอร์รัปชั่น” แต่ความจริงก็ยังคงเป็นฉบับ “ทายาทอสูร” อยู่เช่นเดิมนั่นเอง

การได้มาของ ส.ว.ชุดนี้ที่ดำเนินการกันมาอย่าง “มั่วซั่ว” ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึง “สมองมาร” ของกลุ่มคนที่ปกครองประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะแม้แต่ “ซาตาน” อย่างนักโทษชายหน้าเหลี่ยมก็ยังต้องยอมแพ้และสยบให้ (แต่ระวังตัวด้วย เพราะมันอาจจะเอาคืน ตามสันดานเลวของมัน) ถ้าผู้เขียนคิดไม่ผิดและเคยนำเสนอมาแล้วว่า ประเทศไทยนี้มีกลุ่มคนที่ “ชั่วไม่สร่าง” ซึ่งก็คือพวกชนชั้นปกครองที่หวงอำนาจและดูถูกประชาชน จึงไม่ยอมที่จะให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย หรือยอมให้ประชาชนขึ้นมามีอำนาจ อย่างการทำให้สภา “ไม่น่ารัก” ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ก็ย่อมจะเป็นที่ชิงชังของประชาชน และโดยที่ประชาชนไม่รู้ตัว เมื่อสภาเกิดความวุ่นวาย ก็จะเรียกร้อง “อัศวินม้าเขียว” ให้ออกมากวาดล้าง และ “โยนอุจาระ” ให้พวกคนในสภาว่าทำลายประชาธิปไตย พร้อมกันกับที่ “นักยึดอำนาจ” พวกนี้ได้หน้าและได้รับการยกย่อง จนสังคมไทยนี้เป็นสังคมที่ “เสพติดเผด็จการ – คิดอะไรไม่ออกก็บอกพี่เขียว” กระนั้น

วุฒิสภาชุดนี้ผู้เขียนขอเรียกว่า “ส.ว.หยากไย่” เพราะมันดูยุ่ง ๆ อีรุงตุงนังมาโดยตลอด (ที่ผู้เขียนเชื่อโดยส่วนตัวว่าอาจจะเป็นโมฆะ จากผลของการร้องเรียน จนที่อาจจะถึงขั้นมีการลงโทษ กกต. และยกเลิกการสรรหาที่ผ่านมาทั้งหมด) นี่ก็เกิดขึ้นด้วยความคิดของชนชั้นปกครองที่ “หวาดระแวง” ประชาชนนั่นเอง ถึงขนาดที่ไม่ให้สิทธิประชาชนไปเลือกคนที่จะต้องไปทำงานให้เขา แต่ให้เลือกกันเองเข้ามา ซึ่งก็มีกระบวนการของการจัดตั้งและกะเกณฑ์ ด้วยการควบคุมของฝ่าย “ศักดินาเดิม” หรือที่เรียกว่า “ฝ่ายอนุรักษ์” นั่นแหละ โดยมีลูกมือที่สำคัญคือ “คนมหาดไทย” อย่างที่มีการวางแผนกันมาเมื่อ พ.ศ. 2550 และครั้งนี้กลุ่มคนในเครือข่ายของมหาดไทยก็เข้ามาเป็น ส.ว.กันเป็นจำนวนมาก รวมถึงประธานวุฒิสภา ที่ก็ล้วนแต่เป็นคนในกระบวนการนี้

 ผู้เขียนเชื่อว่าวุฒิสภาชุดนี้ถ้ายังขืนปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อไป (ท่ามกลางข้อร้องเรียนและความไม่เอาไหนของ กกต.) ด้วยความสามารถของสมาชิกวุฒิสภาที่ “อ่อนด้อย” และ “คอยฟังคำสั่ง” อย่างที่เซียนฟุตบอลบอกว่า “ต้องเชื่อแป้ง” เอ๊ย “ต้องเชื่อเน” จะทำให้สภาชุดนี้ “ไปไม่เป็น” ในลักษณะที่ “ฝีตีนไม่ถึง” และจะกลายเป็นตัวตลกในโลกโซเชียลไปทุกวัน ไม่เฉพาะแต่เพราะว่ามี ส.ว.ที่ชอบทำหน้า เอ๊ย อวดหน้าตา แต่จะเต็มไปด้วย ส.ว.ที่วันนี้พูดอย่าง และพอพรุ่งนี้ก็พูดอีกอย่าง เพราะคนที่สั่งงาน ส.ว.ก็จำไม่ได้ว่าสั่งอะไร กับใคร อย่างไรบ้าง แน่นอนว่าเมื่อสภาชุดนี้ล้มเหลว ชนชั้นปกครองก็จะนั่งหัวเราะ และนั่งรับประทานผัดเผ็ดปลาหมอคางดำโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรต่อไป

สังคมไทยก็ไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ แต่เป็นแบบ “เข้าพกเข้าห่อ” หรือเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจและพวกพ้องของเขาเอง ไอ้อีที่รับจ้างเป็น ส.ว.นั้นจึงอย่าได้หวัง ดั่งที่เพลงลูกทุ่งเขาร้องกันว่า “ไอ้(อี)หวังตายแน่ ๆ “ นั้นแล