ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

ล่าสุดสดๆร้อนๆเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ว่าที่ตัวแทนผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พรรคเดโมแครต ได้ประกาศไขก๊อกถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคเป็นที่เรียบร้อยครับ วันนี้เราจะมาวิเคราะห์สถานการณ์นี้กันครับ

หลังจากเกิดกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรค ท้ายที่สุดไบเดนก็ได้ยอมถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้งยังประกาศให้การสนับสนุน กมลา แฮร์ริส อดีตรองประธานาธิบดีให้ลงเป็นตัวแทนพรรคแทนตนอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนทางการเมืองสหรัฐฯไม่น้อย นอกจากจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งประกาศถอนตัว งานนี้ยังนำมาซึ่งคำถามมากมายว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกสี่เดือนข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

คำถามแรกที่ตามมาอย่างรวดเร็ว คือ แล้วอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจเช่นนี้ของไบเดน?

สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนมองว่า เรื่องปัญหาสุขภาพไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไบเดนตัดสินใจเช่นนี้ เพราะไบเดน “ดื้อ” กับเรื่องนี้มาตลอด และไม่เคยยอมถอยด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ดังนั้นน่าจะต้องมีปัจจัยอื่นที่มีความสำคัญพอที่จะทำให้ไบเดน “ดื้อไม่ออก” และตัดสินใจถอนตัว ซึ่งหากมองบริบททางการเมืองสหรัฐฯในตอนนี้ก็ต้องบอกว่า ทรัมป์ ดูจะเหนือกว่าแทบทุกด้าน และยิ่งรอดตายจากการถูกลอบยิงมาหมาดๆ ยิ่งทำให้กระแสของทรัมป์ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด การถูกยิงแล้วรอดตายแถมลุกขึ้นมาชูไม้ชูมือยิ่งเสริมความรู้สึกของคนอเมริกันที่มองทรัมป์ว่าเป็น “ผู้นำที่แข็งแกร่ง” ซึ่งเป็นจุดเด่นของทรัมป์และจุดด้อยของไบเดนพร้อมๆกัน หรือนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไบเดนมองเห็นแล้วว่า “งานนี้ถ้าไม่ยอม แพ้แน่ๆ”

การยอมในครั้งนี้ก็เพื่อให้พรรคได้มีโอกาสเสนอคนใหม่ที่ดูแล้วจะดึงกระแสกลับมาที่พรรคได้ จากเดิมที่มีแต่ความฝ่อลงๆ ของไบเดน และสามารถ “ฟัด” กับทรัมป์ได้บนเวทีจนนำมาซึ่งผลการเลือกตั้งดังที่ตั้งใจไว้ แน่นอนครับ ยังไงเสียก็ต้องให้พรรคของเราชนะไว้ก่อน แต่! หลังจากถอนตัวแล้วก็ไม่ใช่ว่าจบนะครับ

คำถามต่อมา คือ แล้วใครล่ะ? ที่จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตแทนไบเดน

จากการวิเคราะห์ของสื่อสหรัฐฯ มีหลายคนที่น่าสนใจและอาจกลายเป็นแคนดิเดตของพรรคได้ในงวดนี้ อาทิ กมลา แฮร์ริส อดีตรองประธานาธิบดีคู่ขวัญของโจไบเดน เกรทเชน วิทเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และยังมีผู้ว่าการรัฐที่อยู่ในวัยกลางคนอนาคตไกลอีกหลายคน รวมไปจนถึง มิเชล โอบามา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนพูดถึง ซึ่งหลายๆคน (รวมถึงผู้เขียน) ก็มองว่า ถ้ามิเชล โอบามา ลงเป็นตัวแทนแข่งกับทรัมป์จริงๆ งานนี้พรรคเดโมแครตอาจจะมีอนาคตที่สดใสก็เป็นได้ เพราะนางได้รับความนิยมสูงมาก จากทั้งสตรี คนผิวสี หรือแม้แต่คนผิวขาว อย่างไรก็ดี หนทางนี้น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะนางเคยบอกชัดเจนว่า นางเบื่อการเมืองเหลือเกิน และ 8 ปีในทำเนียบขาวนั้น ไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีความสุขเท่าไร สรุปง่ายๆว่า นางไม่อยากกลับไปทำเนียบขาวแล้วว่างั้นเถอะ

งานนี้ก็เลยต้องดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นตัวแทนพรรคแข่งกับทรัมป์ จะยินยอมพร้อมใจกันสนับสนุนกมลา แฮร์ริส หรือจะมีแตกแถว มีคนทะเยอทะยานลุกขึ้นแข่งด้วย ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

แต่เอาเป็นว่า สำหรับผู้เขียน มองว่างานนี้ไบเดนตัดสินใจได้ถูกต้อง น่าจะเพราะด้วยสุดๆที่จะดันแล้ว ประกอบกับกระแสที่พุ่งขึ้นของทรัมป์หลังถูกยิง และถือว่ายังมีเวลาสำหรับคนใหม่ที่จะหาเสียง ยังไม่ถือว่าเปลี่ยนม้ากลางศึก กระบวนท่าในการหาเสียงก็ยังคงสามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่ และเชื่อว่าสมาชิกรวมถึงแฟนคลับพรรคเดโมแครตจำนวนไม่น้อย ก็น่าจะรู้สึกโล่งใจ หายใจหายคอกันคล่องขึ้น เพราะอย่างน้อยถ้าต่อไปเลือกคนได้ดี เลือกกระบวนท่าได้ดี ก็อาจคว้าชัยชนะได้เช่นกัน

งานนี้ จากการเลือกตั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ ว่ามีแคนดิเดตอายุมากที่สุดแข่งกัน ก็อาจได้เห็นเป็นภาพของคนหนุ่มคนสาว กับคนอายุมากแข่งกัน ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ว่าปัจจัยด้านอายุและช่วงวัยจะส่งผลกระทบต่อการเมืองสหรัฐอเมริกา เหมือนในหลายๆประเทศหรือไม่

โจทย์ใหญ่อยู่ที่พรรคเดโมแครตแล้วครับตอนนี้ ว่าจะเลือกใครขึ้นเป็นตัวแทนพรรคคนใหม่ ซึ่งแน่นอน ตัวแทนพรรคคนใหม่นี้ ก็จะหนีไม่พ้นการเป็นหน้าตาของพรรค เป็นผู้กำหนดทิศทางการหาเสียง อัตลักษณ์ นโยบาย และอื่นๆ ซึ่งสุดท้ายจะกำหนดผลการเลือกตั้งในอีก 4 เดือนข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราชาวไทย ก็ติดตามกันไปพร้อมๆกันครับ

เอวัง