ผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำนำหน้านาม และจะให้เกียรติมาก โดยเฉพาะถ้าคำหน้านามด้วยนายแพทย์ หรือแพทย์หญิง ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์
แต่ผลสำรำวจก็ยังพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบบุคคลที่มีคำนำหน้านามนั้นๆเลย ขณะที่ในกลุ่มที่เคยตรวจสอบนั้น ก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่เคยเจอการแอบอ้าง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวหญิงสาวรายหนึ่งอ้างตัวเป็นพยาบาลวิชาชีพ โพสต์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอขณะสวมใส่เครื่องแบบพยาบาลเผยแพร่ลงในเครือข่ายออนไลน์ มีพฤติกรรมแอบอ้าง หลอกคบตำรวจทหาร หวังหลอกเอาเงิน
เรื่องนี้เคยมีการหยิบยกเอาข้อกฎหมายขึ้นมาเทียบเคียง คือ แสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการ” ตาม ป.อาญา มาตรา 145 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “ห้ามผู้ซึ่งไม่ได้ประกอบวิชาชีพพยาบาล หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ หรือมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กระทำการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์ หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ประกอบอาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 มาตรา 27 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในขณะที่ทางตำรวจเอง ก็มีการเปิดโปงกลลวงของมิจฉาชีพ ที่แต่งกายเลียนแบบ วิดีโอคอลผ่านไลน์ หลอกลวงเหยื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน หรือคดียาเสพติด ส่งเอกสารปลอมต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วแต่งกายคล้ายตำรวจวิดีโอคอลกับเหยื่อเพื่อหลอกว่าจะสอบปากคำ หรือแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นจะให้เหยื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพตรวจสอบ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ แล้วมิจฉาชีพก็จะหายไปพร้อมกับเงินนั้น
ในกรณีมีนักการเมือง ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริง ตามเอกสารแนะนำตัวนั้น กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ว่าเข้าข่ายเจตนาหลอกลวงหรือไม่ ซึ่งน่าสนใจว่าความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว จะเกิดขึ้นก่อนที่นักการเมืองรายดังกล่าวจะได้รับเงินเดือนเดือนแรก 113,560 บาท รวมทั้งผู้ช่วยอีก 8 คนที่จะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 15,000-30,000 บาท โดยยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าเดือนทางไปภายในประเทศและต่างประเทศ สิทธิรักษาพยาบาลและกองทุนต่างๆ