ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ปัจจุบันทุกสาขาอาชีพ รวมถึงหน่วยงานของรัฐต่างเข้าใจตรงกันว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ คำว่า 4.0 จึงเป็นวาระแห่งชาติกับทุกวงการ
ต้องมุ่งสู่ความเป็น 4.0 นับว่ารัฐบาลได้กระตุ้นกระบวนทัศน์ให้ทุกคนพัฒนาตนเอง หรือองค์กรตนเองไม่ให้ตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการกล่าวขวัญถึงว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่พลเมืองได้ตระหนักถึง ต้องระดมมาตรการให้มะเร็งร้ายก้อนนี้หลุดพ้นไปจากประเทศไทย จึงสมควรที่จะกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ (agenda) ที่น่าสนับสนุน
การป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ จึงควรรวบรวมทุกหน่วยงานที่มีภารกิจบูรณาการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รณรงค์ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับเยาวชนไทยและการศึกษาไทย ที่ควรเป็นวาระแห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการด้วย การจะนำเอาความรู้หรือรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ จะต้องกำหนดเป็นนโยบายใส่เข้าไว้ในหลักสูตรตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา อาจเป็นรายวิชาในส่วนของการศึกษาทั่วไปควบคู่ไปกับกิจกรรมที่สะท้อนในเป้าหมายความเป็นพลเมืองอย่างเป็นระบบ
ดังนั้นหน่วยงานที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทั้ง สพฐ. สอศ. และ สกอ. ควรได้มีส่วนร่วมกับ ปปช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการให้ชัดเจนให้เป็นมาตรฐานหลักสูตรที่เหมาะสม จะได้ผลมากกว่าให้ ปปช. ไปแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานจัดการศึกษาเอง ซึ่งจะทำให้ขาดนโยบายด้านการศึกษามารองรับ ซึ่งจะไม่เกิดผลตามที่มุ่งหวังตามวาระแห่งชาติ หรือตามยุทธศาสตร์ชาติ
เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรมีแผนมารองรับให้ทุกหน่วยงานในภาคปฏิบัติ
ได้กำหนดเป้าหมายให้สอดคล้อง การให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด รวมถึงหน่วยงานจัดการศึกษามากำหนดแผน 20 ปี โดยขาดเป้าหมาย จะไม่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นรูปธรรมที่อยากจะได้เพราะประเทศไทยมีเพียงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี(2560 – 2564) เท่านั้นที่พอนำมากำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกัน ด้านการศึกษายังมองไม่เห็น
เพราะแผนการศึกษาแห่งชาติระยะยาวยังไม่ตกผลึก แผนการปฏิรูปการศึกษาก็ยังเป็นภาพใหญ่และกว้างมากกว่าที่จะจับต้องได้ แผนพัฒนาอุดมศึกษา 15 ปี ฉบับใหม่ ก็ยังไม่คลอด การขับเคลื่อนประเทศไทย
ต้องขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์ หากยังไม่ชัดเจน การศึกษาทุกระบบก็ยังวังเวงอยู่ในรูปแบบมองจากตัวเอง
ไปข้างนอก (inside out) อยู่ดี
แผนพัฒนากำลังคนที่จะเป็นทุนมนุษย์ในอนาคต ควรที่รัฐบาลจะกำหนดเป็นความต้องการพัฒนากำลังคนให้ในแต่ละสาขาอาชีพทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต้องการมากน้อยเท่าใด
เพื่อจะได้สร้างคนออกไปรองรับโดยไม่สูญเปล่า และไม่มีงานทำ จะทำให้สูญเสียงบประมาณและสูญเสียเวลาในการพัฒนากำลังคนอย่างขาดเป้าหมาย
การกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 มีทั้ง S-Curve เดิม และ S-Curve ใหม่ รวมแล้ว
10 เป้าหมาย แต่เชื่อว่าสถาบันการศึกษาอยากจะเห็นแผนความต้องการกำลังคนแต่ละด้านใน
ระยะต่างๆ ที่ชัดเจน หวังว่าแผน 20 ปี ทั้งระบบไปรองรับยุทธศาสตร์ชาติน่าจะมีเจ้าภาพเพื่อเริ่มต้น
ตั้งแต่บัดนี้