ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เชื่อว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดราม่าเรื่อง “วุฒิการศึกษา” น่าจะได้ผ่านหูผ่านตาท่านผู้อ่านทุกท่านมาไม่มากก็น้อย แน่นอนว่า ก็ยังคงเป็นประเด็นร้อนในสังคมที่ยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง สัปดาห์นี้ผมเลยจะชวนท่านผู้อ่านเกาะกระแสนี้แล้วขบคิดไปด้วยกันครับ แต่ในบทความนี้ เราจะไม่ได้มาหาความกันว่า ปริญญานั้นจริงหรือไม่จริง อะไรเทือกนั้น แต่จะชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันพิจารณาถึงสาเหตุของปรากฏการณ์ทางสังคมนี้

ปฏิเสธไม่ได้ครับ ว่าประเด็นดราม่าวุฒิการศึกษานี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย และอาจจะยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เหตุใดจึงเป็นนั้น?

สิ่งที่ผมอยากชวนทุกท่านขบคิดก็คือคำถามที่ว่า อะไรคือต้นตอของปัญหานี้ และ ปัญหานี้มีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร?

หากมองดูในบริบทของต่างประเทศ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยใช้ชีวิตในต่างแดน พบว่า การมี ดร. นำหน้าชื่อนั้น เป็นสิ่งที่บอกให้คนรู้เพียงแค่ว่า คนๆนี้ คือ “หมอ” หรือ “อาจารย์” ครับ แค่นั้นจริงๆครับ เพราะระบบการศึกษาและระบบการทำงานของเขาไม่ได้เอื้อให้มี ดร.เกลื่อนเมือง ดังนั้นเมื่อเห็นใครมี ดร.นำหน้า หากเจาะลึกลงไปในประวัติจึงมักจะพบว่าได้มีบทบาทการเป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นหมอในโรงพยาบาล มาไม่มากก็น้อย

สิ่งที่เห็นได้ชัดมากๆอีกอย่างหนึ่ง คือการมี ดร. นำหน้าชื่อ ไม่ได้มีนัยของ “การยกระดับทางสังคม” หรือการเป็นอภิสิทธิ์ชนที่เหนือกว่าผู้อื่นแต่อย่างใด การเรียนจบระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ จึงเป็นเส้นทางเดินของผู้ที่ตั้งจิตตั้งใจจะยึดถืออาชีพเป็นอาจารย์ หรือ หมอ เท่านั้น ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน ก็ไม่เคยมีใครมาเรียกว่า “ด็๋อกเตอร์” ยกเว้นแต่ในแวดวงวิชาการ เช่น ในการประชุม หรือการนำเสนอผลงานทางวิชาการ เท่านั้น 

ตรงจุดนี้ผู้เขียนมองเห็นถึงความแตกต่างกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก สังคมไทยเรานั้นมีมุมมองต่อการมี ดร. นำหน้าชื่อที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากประเทศตะวันตก กล่าวคือมีมิติของการ “ยกระดับทางสังคม” ที่แนบติดกับคำว่า ดร. ในระดับที่สูงมาก

ในสังคมไทยคำว่า “ด็อกเตอร์” จึงกลายเป็นคำหนึ่งที่ใช้เรียกแทนคนที่จบปริญญาเอก กลายเป็นเหมือน “ยศ” หรือ “เครื่องประดับทางสังคม” ที่คนให้คุณค่า แสดงให้เห็นถึงการศึกษาที่สูง เป็นชนชั้นสูงของสังคม โดยมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับบริบททาง “วิชาการ” น้อยมากๆเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้พบกับตัวเอง เมื่อคนรู้ว่าเราจบปริญญาเอก มักแสดงออกด้วยการให้เกียรติที่สูงขึ้น มีการพินอบพิเทามากกว่าปกติ ประหนึ่งว่าผมได้ “เลื่อนขั้นทางสังคม” กลายเป็นคนละชนชั้นกับเขาไปเสียแล้ว และแม้ผมจะพยายามจะบอกว่า “ไม่ต้องเรียกผมว่าด๊อกเตอร์หรอกครับ เรียกพี่เหมือนเดิมเถอะ” ก็มักจะได้รับการปฏิเสธมาเสมอ เหมือนคู่สนทนาจะเขินที่จะเรียกผมอย่างเป็นกันเองหลังจากได้คำว่า “ดร.” มาประดับ

หรือนี่คือเหตุผล ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย ขวนขวายหาคำว่า “ดร.” มานำหน้าชื่อ ด้วยเห็นว่ามันคือการยกระดับทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง คล้ายกับการมียศทหารตำรวจ แทนที่จะให้คุณค่ากับมันในมิติทางวิชาการ และเมื่อการได้มาด้วย ดร. ทางวิชาการอย่างแท้จริงนั้นไม่ง่าย การแสวงหา ดร. มาประดับด้วยวิธีการต่างๆจึงเกิดขึ้น เช่น การหาซื้อปริญญาที่ปลอมแปลงโดยเฉพาะจากต่างประเทศ เป็นต้น มิหนำซ้ำ เมื่ออุปสงค์มีมากบางสถาบันการศึกษาก็ฉวยโอกาสนี้ ทำให้การจบปริญญาเอก “ง่ายขึ้น” เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดที่มีผู้คนจำนวนมากอยากได้คำว่า “ดร.” กลายเป็นบาดแผลแก่มาตรฐานการศึกษาของไทยอีกต่อหนึ่ง

ท่านผู้อ่านครับ ปัญหานี้จับมือใครดมไม่ได้ จะโทษไปที่ใครคนใดคนหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน หากลองมองย้อนกลับไปที่ “ต้นตอ” ของปัญหาที่แท้จริง ดังที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น หรือแท้จริงแล้ว “วิธีคิด” ของ “สังคมไทย” นี่แหละ คือต้นตอของปัญหา? เมื่อสังคมไทยยังเป็นสังคมชนชั้นอย่างเข้มข้น คนมียศ มีตำแหน่ง ได้รับการเชิดชูมากกว่าคนทั่วไป เหนือผลงานหรือคุณธรรม จึงส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องขวนขวายหา ดร.มาประดับตน เพื่อยกระดับและชนชั้นของตนเองทางสังคม

หลายต่อหลายครั้ง การเชิดชูผู้คนที่ “เครื่องประดับทางสังคม” จนเกินพอดีนี้ ก็นำเราไปสู่ปัญหาอื่นๆมากมาย เช่น การคอร์รัปชัน การหลอกลวงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงปัญหาดราม่าอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยดราม่าที่เกิดขึ้นวันนี้ คือเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มตื่นตัว จึงกลายเป็นกระแสในวงกว้างที่ตั้งคำถามถึงความถูกผิดนั่นเอง

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมไทย อาจต้องเริ่มต้นที่วิธีคิดของสังคม ที่คนในสังคมทุกคนต้องช่วยกัน ทำให้ความเป็น “สังคมบ้าคำนำหน้า” ลดลง ถึงวันนั้น ดร. คงเป็นคำที่บ่งบอกถึง “หน้าที่” ทาง “วิชาการ” มากกว่า “ชนชั้น” ทาง “สังคม”

เอวัง