เสือตัวที่ 6

กลุ่มคนหัวรุนแรงของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่อย่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นทั้งเด็ก สตรี และคนทั่วไปในพื้นที่บริเวณอาคารที่พักข้าราชการตำรวจ อ.บันนังสตา ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ตลาดชุมชนแห่งนี้อย่างไม่ปรานีปราศรัย ด้วยการใช้รถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลธารโต ม.1 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ประกอบระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังแก๊สขนาด 15-16 กก. พร้อมเหล็กเส้นตัด และดินระเบิด น้ำหนักประมาณ 80 กก. พร้อมถังน้ำมัน 2 แกลลอน ใช้วางอยู่บริเวณเบาะด้านหลังรถจุดชนวนด้วยการตั้งเวลาเป็นเหตุให้ครูสอนตาดีกาประจำมัสยิดกำปงลาแล ชาว ต.บาเจาะ    อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ขับขี่ จยย. ขณะกำลังเดินทางไปซื้ออาหารมาประกอบเลี้ยงเด็กนักเรียนโรงเรียนตาดีกาประจำมัสยิดกำปงลาและผ่านบริเวณนั้น ถูกแรงระเบิดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้บาดเจ็บจำนวนมากกว่า 34 ราย รวมทั้งส่งผลให้ทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับความเสียหายในวงกว้าง และที่สำคัญการก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ได้ทำลายบรรยากาศของความสงบสุขในการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ที่กำลังมีอนาคตอันสดใส ตลอดจนเป็นการเหนี่ยวรั้งทำลายบรรยากาศของการเจรจาสันติสุขที่กำลังเดินหน้าให้ต้องหยุดชะงักลงอย่างน่าเสียดาย

การใช้รถยนต์ของราชการซึ่งเป็นรถยนต์ขององค์การบริหารส่วนตำบลธารโต ม.1. ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา ในการก่อเหตุวินาศกรรมครั้งนี้มีนัยที่น่าสงสัยในขบวนการก่อความรุนแรงที่อาจจะเชื่อมโยงกับคนของส่วนราชการท้องถิ่นในการเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ ณ วันนี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงและชัดเจนมากขึ้นที่ระบุได้ว่ามีการแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการโดยเฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่นนอกจากสถานศึกษาในพื้นที่ซึ่งเป็นที่รับรู้ของหน่วยงานความมั่นคงมานานแล้ว การใช้รถยนต์ของทางราชการท้องถิ่นจึงหวังจะสามารถหลุดรอดด่านตรวจความมั่นคงในพื้นที่มาได้อย่างสะดวกและก็สามารถทำได้ตามแผนร้ายนี้ นอกจากนั้นยังอาจมีผู้ร่วมขบวนการก่อการร้ายครั้งนี้อีกจำนวนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

เหตุระเบิดรถยนต์ครั้งนี้ถือเป็นระเบิดที่ประกอบรถยนต์เป็นครั้งแรกของปี 2567 และเป็นครั้งแรกที่เป็นระเบิดรถยนต์ที่ใช้รถยนต์ของราชการส่วนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง โดยระเบิดประกอบรถยนต์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP (Joint Comprehensive Plan towards Peace) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐหรือการเจรจาสันติภาพของขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อ ก.พ. 2566 โดยทั้งผู้แทนรัฐและบีอาร์เอ็นต่างตกลงร่วมกันใน 3 ประเด็นสำคัญคือ 1.ลดความรุนแรงในพื้นที่ 2.จัดให้มีเวทีปรึกษาหารือกับประชาชน และ3.การแสวงหาทางออกทางการเมืองการก่อเหตุร้ายครั้งนี้จึงเป็นการกดดันให้รัฐเร่งยอมรับเงื่อนไขในการเจรจาโดยแสดงให้เห็นว่าขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐยังมีศักยภาพเหนือกว่ารัฐโดยที่พวกเขายังคงก่อเหตุร้ายหรือสามารถต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐได้อย่างเหนือชั้นที่แม้จะเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ไม่รอดพ้นการทำลายของขบวนการแห่งนี้ได้หากพวกเขาต้องการ

การลดความรุนแรงซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPPนั้น กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขให้รัฐต้องทำ 4 ไม่กล่าวคือ ไม่ปิดล้อม ไม่ตรวจดีเอ็นเอ ไม่จับกุม ไม่ติดประกาศหมายจับและรัฐต้องทำ 3 ลด คือ ลดลาดตระเวน ลดจุดตรวจ ลดพื้นที่ พ.ร.ก. และรัฐต้องทำ 4 ยอม กล่าวคือ ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวโดยไม่มีการจับกุม ยอมให้เข้าเมืองได้ ยอมให้จัดเวทีประชุมระดมความเห็นเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองและรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามแผน JCPP ทั้งรัฐต้องให้การคุ้มครองคุ้มกันคนเหล่านี้ไม่ให้เกิดอันตรายขณะเข้ามาจัดกิจกรรมด้วย รวมทั้งรัฐต้องยอมปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง และปลดหมายจับ ในขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะทำ 4 ไม่ คือ ไม่ก่อเหตุ ไม่ขนย้ายอาวุธและระเบิด ไม่ยุ่งยุปลุกปั่น และไม่ทำผิดกฎหมายนั้น จึงน่าจะเป็นกลลวงให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ มีโอกาสในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายการปกครองกันเองอย่างอิสระตามที่แกนนำขบวนการมุ่งหวังมากขึ้น

ขบวนการร้ายแห่งนี้ได้ต่อสู้พร้อมกันในหลายมิติอย่างสอดประสานกัน การต่อสู้ที่ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐที่ขับเคลื่อนผ่านกลุมเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมมากมายหลายกลุ่ม ตลอดจนส่วนท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ รวมทั้งนักวิชาการในสถานศึกษาทั้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานและในกรุงเทพฯ โดยใช้เงื่อนไขประเด็นของการให้สิทธิเสรีภาพกับคนในพื้นที่ ตลอดจนการให้ความยุติธรรม ความเสมอภาคกับคนในพื้นที่ให้ทัดเทียมกับคนในพื้นที่อื่นของประเทศ ข้อเรียกร้องหลายประเด็น อาทิ รัฐต้องทำ 4 ยอม กล่าวคือ ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวโดยไม่มีการจับกุม ยอมให้เข้าเมืองได้ รวมทั้งรัฐต้องยอมปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงและปลดหมายจับจึงเป็นการให้สิทธิพิเศษกว่าคนในพื้นที่อื่นอย่างไม่เสมอภาคในขณะที่ฝ่ายขบวนการร้ายแห่งนี้พยายามต่อต้านขัดขวางกติกาของรัฐด้วยการละเมิดกฎหมายของรัฐครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงการก่อเหตุร้ายครั้งล่าสุด แต่กระนั้นสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมก็ไม่ใช่เฉพาะคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน หากแต่ใครที่ละเมิดกฎหมายของรัฐจะต้องถูกจับกุมมาลงโทษอย่างจริงจัง เพราะการบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัด นอกจากเป็นการรักษาความมั่นคงและอธิปไตยของรัฐแล้ว ยังเป็นการสร้างความเสมอภาคให้เกิดกับคนทั้งประเทศอย่างเป็นธรรม