สถาพร ศรีสัจจัง

หลักฐานจากประวัติศาสตร์ไทยระบุว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ได้จัดทำ “จารึก” ที่ใช้ “ภาษาไทย” (ตัวอักษรไทย) ลงบนแผ่นศิลา ที่ภายหลังเรียกกันว่า “จารึกสุโขทัยหลักที่ 1” หรือ “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 1826

นับถึงปีปัจจุบัน คือ พ.ศ.2567 รวมอายุได้ 741 ปี

ที่เคยเรียนตอนเด็กๆ และ ที่เคยอ่านผ่านตาจากที่ไหนสัก(อาจจะหลาย)แห่ง พบว่า บรรดานักวิชาการมักระบุตรงกันว่า(ถ้าจำไม่ผิด)

คนกลุ่มแรกๆที่รู้จักสร้าง “ภาษาเขียน” (จารึก/บันทึก) คือกลุ่มชนเผ่าที่เรียกกันว่า “ชาวสุเมเรียน” ซึ่งอาศัยอยู่แถบย่านลุ่มน้ำ “เมโลโปเตเมีย” (แถบประเทศอิรักและคูเวตปัจจุบัน)

หลักฐานที่พบนั้นเป็น “จารึกบนแผ่นดินเหนียว  จากการพิสูจน์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่พบว่า มีอายุประมาณเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว  เก่าแก่กว่า “จารึกสุโขไทยหลักที่ 1/หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ของ “ชนชาติไทย” (สยาม?)ตั้งกว่า 4 พันปี!

เรียกว่า “ภาษาเขียน” ของชาวสุเมเรียนยุคแรกๆนั้น มีรายละเอียดของภาษาประกอบด้วย “สัญลักษณ์” 2 ประเภท

ประเภทแรก ใช้สำหรับบอกตัวเลข โดยใช้ “เลขฐาน” คือ เลข 10 กับเลข 6 ควบคู่กันไป

“ผู้รู้” บางคนระบุไว้อีกว่า การใช้เลข 6 เป็น “เลขฐาน” ของชาวสุเมเรียนนี่เอง ที่ได้ทิ้ง “มรดก” การใช้ตัวเลขบางอย่างส่งต่อมาจนถึงรุ่นเราปัจจุบัน เช่น การแบ่งเวลา 1 วันเป็น 24 ชั่วโมง และ การแบ่งวงกลมเป็น 360 องศา เป็นต้น

สัญลักษณ์ที่เป็น “อักษรภาพ” ประเภทที่ 2 พบว่า ชาวสุเมเรียนสร้างขึ้นเพื่อบอกเรื่องของ คน สัตว์ สิ่งของ สินค้า วันเดือนปี และ พื้นที่ เป็นต้น

นักมานุษยวิทยา (Anthrologist) ส่วนใหญ่ระบุว่า การเกิดสัญลักษณ์เพื่อใช้ “บันทึก” ที่เรียกกันภายหลังว่า “ภาษาเขียน” นั้น เป็นเพราะ “ภาษาพูด” ที่ใช้สื่อสารกันแต่เดิมมี “ข้อจำกัด” คือเพียงสามารถใช้สื่อสารส่งต่อ หรือสร้าง “หน่วยความจำ”กันได้เพียงในหมู่คนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น

ครั้นเมื่อ “เซเปียนส์” หรือ “คน” มีพัฒนาการทางสังคม เป็น “กลุ่มคน” ที่ใหญ่ขึ้นจนเป็นระดับ “ชุมชน” หรือ “เมือง” ที่มีผู้คนเพิ่มขึ้น (และกระจาย) เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เป็น “ฝูง” เล็กๆเพียง 10-20-30 ตัว (หรือ “คน”?) ที่ “เร่ร่อน” เก็บหาอาหาร (เมื่อแรกเริ่มเชื่อว่าน่าจะเป็นประเภทพืชก่อน  แล้วค่อยๆพัฒนามาเริ่มรู้จักกินสัตว์ด้วยกัน!ในภายหลัง)แบบแต่เดิมอีกต่อไป

“ความจำเป็น” ที่ต้อง “สื่อสารความ” หรือ “ส่งต่อความ” หรือ “บันทึกความ” (โดยเหตผลต่างๆ)จึงทำให้เกิดการค้นคิด “สัญลักษณ์” เพื่อบรรลุการดังกล่าวขึ้น

และนี่เอง ที่น่าจะเป็น “ต้นตอ” แห่งการเกิดขึ้นของ “ภาษาเขียน”!

ฟังมาอีกนั่นแหละว่า สิ่งที่เรียก “มีความจำเป็นต้องบันทึก” นั้น เกิดจากข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่สมองในส่วน “ความทรงจำ” ของมนุษย์เอง กล่าวคือ ภายหลังเมื่อสังคม “คน” เติบใหญ่มากขึ้น  มีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “หน้าที่ความรับผิดชอบ”

คนซึ่งต้องทำ “หน้าที่” จำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้ทั้งหมด (เช่นต้องจำว่าในยุ้งฉางกลางของกลุ่มหรือของชุมชน มีใครบ้างที่เอาธัญพืชต่างๆมาฝากไว้ ? หรือคนนั้นคนนี้ฝากไว้ในปริมาณเท่าไหร่? เป็นต้น) การ “จำไม่ได้ทั้งหมด” อาจเป็นการบกพร่องใน “หน้าที่” (ที่ได้รับมอยหมาย เมื่อ “หัวหน้า” หรือ “ชนชั้นนำ”) สอบถามแล้วตอบไม่ได้ อาจถือเป็นความผิด ต้องถูกลงโทษ

เพื่อตอบสนองปัญหาในลักษณะต่างๆเช่นนี้เอง “ภาษาเขียน” จึงเกิดขึ้น!

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำเสนอแนวคิดที่สำคัญยิ่งอีกแนวคิดหนึ่งว่า “ภาษาเขียน” ของ “เซเปียนส์” เกิดขึ้นเพราะ สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มี “สมอง” ที่พัฒนาขึ้น พวกเขามีพัฒนาการเรื่อง “การเรียนรู้” ที่ต้องการ “ส่งต่อ” สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” นั้นสู่ผู้อื่นหรือสู่สมาชิกรุ่นเยาว์-รุ่นหลัง ฯลฯ ในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นอันตรายและมีประโยชน์ ฯลฯ

ในแง่นี้ “ภาษาเขียน” จึงกลายเป็น “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์” (Tool)ในการ “เรียนรู้” อันสำคัญยิ่งที่ส่งผลต่อ “พัฒนาการ” ด้านต่างๆของชาว “เซเปียนส์” หรือ “คน”!

โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาพัฒนามาถึงจุด “หยุดเร่ร่อน” เพื่อหาปัจจัยยังชีพ  เพราะเริ่มเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารแล้ว(คือผ่านจากยุค “ชุมชนบุพกาล” เข้าสู่ชุมชนที่มีการตั้งรกรากเพื่อเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร)

ทั้งยังเริ่มเรียนรู้ในการเลือก “ทำเล” (Location) ที่เหมาะสม (มีแหล่งน้ำ มีพันธุ์พืช และ สัตว์ที่หลากหลายอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอ ฯลฯ) เพื่อตั้งถิ่นฐาน

และ “ภาษาเขียน” ก็น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการสร้าง “สังคม” แบบ “แบ่งงานกันทำ” (Divition of Labour) ตาม “หน้าที่” (Function) ที่เหมาะสมของแต่ละคนตามความเป็นจริงและข้อจำกัดของ “โครงสร้าง” (Structure) ของสังคมนั้นๆ(ที่ถูกกำหนดโดย “พื้นที่และเวลา”)

เมื่อพิจารณาโดยรวม การค้นพบและสามารถประดิษฐ์ “สัญลักษณ์แทนค่าความหมาย” ที่เรียกว่า “ภาษาเขียน” (Written Language) จึงนับเป็นก้าวสำคัญ(หลังจากค้นพบและสามารถควบคุมไฟ)ในการเพิ่ม “อำนาจ” ให้กับกลุ่ม “เซเปี้ยนส์” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะการมี “ภาษาเขียน” นี้เอง ที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ในการช่วยให้มีการ “ส่งต่อ สืบทอด และ ต่อยอด” สิ่งที่รุ่นก่อนค้นพบหรือสร้างไว้ไให้กับ “เซเปียนส์” หรือ “คน” ในรุ่นหลังหรือรุ่นต่อๆไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด!

การ “เรียนรู้” ในเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องของสปีชีส์ “เซเปียนส์” อันได้แก่ เรื่องมนุษย์ด้วยกัน เรื่องของสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งธรรมชาติ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (พลังงานที่เซเปี้ยนส์ยังไม่รู้) จึงพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จนก่อผลทั้งด้านสร้างสรรค์และทำลายในเวลาต่อมา…เพราะ…

… มีนักวิชาและ “นักคิด” ในชั้นหลังจำนวนไม่น้อย (ตั้งแต่เริ่มเกิดมี “ภาษาเขียน” จนถึงยุคร่วมสมัยปัจจุบัน)ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ภาษาเขียน” กลายเป็น “อุปกรณ์ทางชนชั้น” ประการหนึ่ง ที่มีส่วนอย่างสำคัญยิ่ง ในการสถาปนา “อำนาจนำ”ให้แก่ “คนบางกลุ่มบางพวก” (ในประชาคมนั้นๆ) เพราะในห้วงเวลาแรกๆที่ “มนุษย์” มี “ภาษาเขียน” ขึ้นใช้นั้น การ “เขียนได้อ่านออก” ล้วนถูกผูกขาดอยู่ในมือของ “ชนชั้นที่มีอำนาจนำ” ทางสังคม (เศรษฐกิจ-การเมือง) เท่านั้น “มวลชน” คนส่วนมากของสังคมโดยทั่วไป  ล้วนยังตกอยู่ในสภาวะแบบที่สำนวนไทยเรียกว่า “แต่ก่อนคนเรานั้นโง่” เสียเป็นส่วนใหญ่ !

เรื่องนี้จะจริงไม่จริงอย่างไรก็ลองไตร่ตรองกันดีๆดู!!!!