เสือตัวที่ 6

นับเป็นความแหลมคมยิ่งของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเดินหน้าขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐเพื่อมุ่งสู่ความเป็นอิสรภาพในการปกครองกันเองของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ความแหลมคมในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับรัฐนับวันยิ่งทวีกำลังในการรุกคืบไปสู่เป้าหมายปลายทางสุดท้ายของขบวนการร้ายแห่งนี้ พวกเขาได้เร่งเร้าการต่อสู้ทางความคิดอย่างประสานสอดรับกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่นชุมชนจนสู่ระดับชาติและนานาชาติ จวบจนถึงช่วงเวลานี้ที่คนกลุ่มนี้กำลังดำเนินการผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐกับผู้แทนของกลุ่มเห็นต่างโดยมีกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นตัวแสดงนำที่เดินหน้ามาจนถึงข้อตกลงร่วมด้วยหลักการตามแนวทางของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม(Joint Comprehensive Plan towards Peace -JCPP) โดยในหลักการ JCPP มี 3 ส่วนสำคัญคือ การลดความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ที่กำลังถูกก้าวนำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยเงื่อนไขอันแยบยลและแหลมคมยิ่ง โดยเฉพาะเงื่อนไขตามแนวทาง JCPP

โดยการลดความรุนแรงนั้น กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขให้รัฐต้องทำ 4 ไม่กล่าวคือ ไม่ปิดล้อม ไม่ตรวจดีเอ็นเอ ไม่จับกุม ไม่ติดประกาศหมายจับและรัฐต้องทำ 3 ลด คือ ลดลาดตระเวน ลดจุดตรวจ ลดพื้นที่ พ.ร.ก. และรัฐต้องทำ 4 ยอม กล่าวคือ ยอมให้บีอาร์เอ็นเปิดเผยตัวโดยไม่มีการจับกุม ยอมให้เข้าเมืองได้ ยอมให้จัดเวทีประชุมระดมความเห็นเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองและรับฟังความเห็นสาธารณะ ตามแผน JCPP ทั้งรัฐต้องให้การคุ้มครองคุ้มกันคนเหล่านี้ไม่ให้เกิดอันตรายขณะเข้ามาจัดกิจกรรมด้วย รวมทั้งรัฐต้องยอมปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง และปลดหมายจับ ในขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะทำ 4 ไม่ คือ ไม่ก่อเหตุ ไม่ขนย้ายอาวุธและระเบิด ไม่ยุ่งยุปลุกปั่น และไม่ทำผิดกฎหมายสำหรับการจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือสาธารณะนั้นฝ่ายบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขให้มีการจัดให้มีการจัดตั้งคณะตรวจสอบ 14 คน ได้แก่นักวิชาการท้องถิ่น เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม (CSO)โดยใช้ระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับการแสวงหาทางออกทางการเมืองนั้นกลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขให้รัฐดำเนินการจัดตั้งนครรัฐปัตตานีใน 1 พ.ค. - 31 ก.ค.67 เพื่อให้เข้ามาจัดตั้งคณะทำงานเข้ามานำเสนอแนวการจัดรูปแบบการปกครองในพื้นที่แห่งนี้ที่เอื้ออำนวยให้มีการสนับสนุนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นโดยในห้วง 1 ส.ค. - 31 ต.ค.67 จะเป็นการกำหนดรายละเอียดนครรัฐปัตตานี อาทิ การฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น การรักษาเอกลักษณ์ ภาษามลายู การจัดการศึกษาในรูปแบบที่กลุ่มตนต้องการซึ่งแม้จะไม่มีคำว่านครรัฐปัตตานีออกมาให้เห็นในเอกสารแบบตรงไปตรงมา แต่เป็นการซ่อนพรางโดยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองสู่พื้นที่แห่งนี้ด้วยรุกเข้าสู่การให้อิสรภาพปกครองในรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นนี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นยังดำเนินการพร้อมกับการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดเพื่อสร้างกระแสชิงการนำทางความคิดทางสังคมจนทำให้ผู้เห็นต่างจากกลุ่มของตนนั้น เป็นคนนอกที่ไม่เข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่ที่แท้จริง หรือกระทั่งทำให้คนที่เห็นต่างจากกลุ่มตน เป็นกลุ่มคนหัวคิดล้าหลังที่ไม่เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองให้คนในพื้นที่ได้ปกครองกันเอง อันเรียกได้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นกำลังใช้ซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นการส่งต่อแนวคิดการยอมรับการกระจายอำนาจการปครองให้ท้องถิ่น จนถึงการยอมรับการปกครองแบบพิเศษในพื้นที่แห่งนี้ผ่านนักวิชาการ สื่อมวลชนทุกรูปแบบนักการเมืองที่กำลังแสวงหาความนิยมจากประชาชนด้วยการชูประเด็นการให้อำนาจประชาชนในพื้นที่ได้ปกครองกันเอง

โดยประเด็นตามเงื่อนไขต่างๆ อันแข็งกร้าวแต่แหลมคมยิ่งดังกล่าวของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่ผ่านกระบวนการผลิตชุดความคิดที่ล่อแหลมและหมิ่นเหม่ต่อความเป็นบูรณภาพแห่งอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยเกิดขึ้นจากนักคิดระดับนำของคนกลุ่มนี้ที่ลุ่มลึก และกำลังถูกส่งผ่านมายังคณะผู้แทนการเจรจาสันติภาพของรัฐ และถูกสื่อสารไปยังสาธารณะทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศในเวลาเดียวกันให้รับรู้และเข้าใจในทำนองว่าหากใครไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว หรือไม่ยอมรับแนวคิดของกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อสันติภาพอันซ่อนเงื่อนดังกล่าวนี้จะสร้างกระแสให้สังคมโดยรวมเห็นว่าคนกลุ่มเห็นต่างจากกลุ่มตนนั้นไม่เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง และคนเหล่านั้นไม่ควรอยู่ในกระบวนการสร้างสันติภาพแบบองค์รวมตามแนวทาง JCPP ที่ได้ตกลงกันในคณะเจรจาสันติภาพแล้ว

หากแต่กระบวนการต่อสู้ทางความคิดดังกล่าวของฝ่ายรัฐโดยคณะผู้แทนของรัฐในการเจรจาสันติภาพ ตลอดจนนักวิชาการ สื่อมวลชนทุกรูปแบบ นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าตามแนวทาง JCPP ที่ล่อแหลมต่อความมมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของรัฐเหล่านั้น จะมีชุดความคิดตลอดจนกระบวนการตอบโต้ความคิดดังกล่าวอย่างไรให้สามารถเอาชนะในสมรภูมิของการต่อสู้ทางความคิดครั้งนี้ได้สำเร็จการจัดตั้งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองสู่พื้นที่แห่งนี้ด้วยรุกเข้าสู่การให้อิสรภาพปกครองในรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ ทั้งหลายข้างต้นนี้ กลุ่มบีอาร์เอ็นยังดำเนินการพร้อมกับการขับเคลื่อนการต่อสู้ทางความคิดเพื่อสร้างกระแสชิงการนำทางความคิดทางสังคมขจัดคนเห็นต่างจากแนวคิดของตนออกไป แม้คณะพูดคุยฝ่ายรัฐจะเห็นว่าไม่ได้มีเป้าหมายการต่อสู้ว่าต้องเป็นรัฐเอกราช หรือการปกครองตนเองแบบที่มีกฎหมายรองรับรูปแบบการปกครองพิเศษ แต่ก็ซ่อนเงื่อนไขที่ว่า จะเป็นอย่างไรนั้นต้องมาจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญประการหนึ่งใน JCPP คือการปรึกษาหารือสาธารณะกับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นเงื่อนไขให้รัฐยอมรับให้มีการกระจายอำนาจการปกครองตนเองในรูปแบบพิเศษจากความเห็นหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นเป็นเพียงบันไดสู่ประชามติที่จะรุกต่อไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงคือแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ในรูปแบบที่มีอิสระในการปกครองตนเองมากที่สุด