พูดถึงสยามรัฐ จักไม่พูดถึงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อย่างไร แม้ยอดบุรุษจะลาจากโลกนี้ไป29 ปีแล้ว หากแต่มรดกชิ้นสำคัญคือ  “สยามรัฐ” ยังดำรงคงอยู่  ทั้งสื่อกระดาษ สยามรัฐ รายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และสื่อออนไลน์ ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มต่างๆ ในเครือสยามรัฐ ที่อายุยืนยาวมาถึง74 ปี และก้าวย่างสู่ปีที่ 75

กระนั้น ผู้เขียนเห็นว่า หลายคนรู้จักเรา แต่ไม่รู้จักรากของเราว่าเป็นอย่างไร รู้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ก่อตั้งสยามรัฐ รู้ว่าเป็นนักเขียน แต่น้อยคนอาจไม่รู้ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยเป็นนักข่าวออกไปทำข่าวภาคสนาม และยังเคยเป็นบรรณาธิการด้วย

 จึงใคร่ขอนำข้อเขียนของร.ศ.สุกัญญา สุบรรทัด ที่ได้รวบรวมไว้ ในหนังสือ “100ปีคึกฤทธิ์” บางช่วงบางตอนมานำเสนอดังนี้

“คึกฤทธิ์ เป็นหัวเรือสำคัญ ที่พยายาม "ปั้น" สยามรัฐให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็น "ผู้ใหญ่" ไม่เร้าอารมณ์ แต่มีสิ่งพิเศษที่มอบให้แก่ผู้อ่าน คือ อารมณ์ขัน เขาได้ถ่ายทอดความรู้แก่สตาฟฟ์ ไม่น้อยเลยทีเดียว

ประจวบ ทองอุไร เล่าว่า ที่โรงพิมพ์สยามรัฐในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้ใหญ่โตอย่างเดี๋ยวนี้ ชั้นสองตอนกลางวัน มีข้าวเลี้ยงพนักงาน และอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นประธานนั่งโต๊ะกลม เจตนาของคุณชายคือจะถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ของท่านให้กับพวกเรา ซึ่งท่านจะเปิดเผยตรงๆ ก็ไม่ได้ ก็เลยกินข้าวไปคุยกันไป นอกจากงานเขียนแล้ว แม้งานหาข่าวเขาก็ได้ทำเป็นบางครั้ง เช่น ขณะที่เกิดกบฎแมนฮัตตันเกิดเรื่องราวที่ท่าราช

วรดิฐ จอมพล ป. ถูกจับ คึกฤทธิ์ถึงกับนอนที่โรงพิมพ์ และ “เอารถโรงพิมพ์ออกไป เป็น ออกตรวจเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้น รถเฟียตคันเล็กแค่ 5 แรง.... ..เห็นทหารเรือนอนหมอบกอดปืน....คุณชายไปเห็นเข้าก็อดสงสารไม่ได้ เลยซื้อเครื่องกระป๋อง เครื่องแกงสำเร็จรูปให้ทหารพวกนั้นซึ่งอดข้าวกิน เสร็จแล้วก็กลับมาโรงพิมพ์ทำข่าว”

สยามรัฐ มีนโยบายทำข่าวไม่ให้ตื่นเต้น ไม่มีการพาดหัวข่าวตัวโตๆ เรียกร้องความสนใจจากคนอ่านอย่างที่หนังสือพิมพ์ทั่วไปชอบทำกัน

เหตุที่คึกฤทธิ์มารับเป็นบรรณาธิการ ในปี พ.ศ.2502 นั้น ก็โดยเหตุที่ตอนนั้นเป็นยุคเผด็จการ รำพรรณ พุกกะเจียมบรรณาธิการคนที่ 2 ของสยามรัฐ ถูกฟ้องหมิ่นประมาท คึกฤทธิ์เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นทำหนังสือพิมพ์ลำบากก็เลยรับเป็นบรรณาธิการเสียเอง... "คือ พอยกธงท่านรู้สึกว่าอะไรๆ ก็ไม่ค่อยรุนแรงนัก เรียกว่า บารมีท่าน" เป็นอยู่ได้ปีเดียวก็ให้ ประจวบ ทองอุไร เป็นแทน โดยอ้างว่า “เหนื่อย”

ศึกฤทธิ์ เป็นผู้สร้างแนวทางให้สยามรัฐ เขาตั้งเป้าหมายไว้ว่า ให้ยกระดับความรู้ของคนอ่านหนังสือ ให้มีความสนใจ เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย และเน้นเรื่องนี้มากกว่าปริมาณการขายหนังสือพิมพ์ ข้อเขียนของคึกฤทธิ์เองก็เน้นจุดนี้แต่เป้าหมายของสยามรัฐ เช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นอุดมคติที่ต้องต่อสู้ไปแต่เพียงเดี่ยวโดด เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆร่วมสมัย ยังเน้นปริมาณการขายเป็นหลักอาจจะเป็นจุดนี้อีกจุดหนึ่งก็ได้ ที่คึกฤทธิ์มักพูดว่า เขา เป็นคนหัวเดียวกระเทียมลีบ

เขาตั้งคติไว้ให้สยามรัฐ ว่า “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม" ซึ่งเป็นนโยบายของสยามรัฐ ตลอดมาที่จะต่อสู้กับ ความไม่ชอบมาพากลในแผ่นดินเช่นการต่อสู้ของสยามรัฐ ในกรณีทุ่งใหญ่ คึกฤทธิ์นับสนุนการเจาะข่าวนี้

“อาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่าต้องสู้ก็เลยลุยต่อ" เป็นคำกล่าวของ ไพบูลย์ สุขสุเมฆ นักข่าวที่ตามเจาะ ปิดโปงความประพฤติมิชอบของผู้ใหญ่อย่างถึงรากถึงโคน

ปี พ.ศ.2513 คึกฤทธิ์ปรับปรุงสยามรัฐ นพพร บุณยฤทธิเข้ามาเป็นบรรณาธิการ ปีนั้นรัฐบาลจัดรายการ มีท เดอะนายกรัฐมนตรี พจน์ สารสิน ออกโทรทัศน์ ให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ที่ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม คึกฤทธิ์ก็ได้เป็นตัวของฝ่ายสื่อมวลชนในการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี

ครั้นเมื่อเขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง คึกฤทธิ์ ก็ได้รามือจากวงการหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น เขาได้ถอนตัวออกจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีการเปลี่ยนยุดกรรมการทั้งหมด เขาหยุดเขียนหนังสือไปพักหนึ่ง จนพ้นตำแหน่งแล้ว จึงได้ก้าวเข้ามาสู่วงการอีกครั้งหนึ่ง 

กลับมาครั้งนี้ "ซอยสวนพลู" ดูเหมือนจะผงาดกว่าเดิมในยุทธจักร”