สถาพร ศรีสัจจัง

หัวข้อ “โลก-ทัศน์-พัฒน์ และ พิษ” ประกอบด้วยคำเพียง 4 คำ แต่ถ้าเป็น “นักคิด” หรือ “นักวิชาการใหญ่” หัวข้อนี้คงจะสามารถเขียนได้เป็นหนังสือเล่มขนาดหนาๆที่สุดได้เล่มหนึ่งทีเดียว

ที่จริงถ้าเป็นคนเก่งภาษาไทย  คำ 4 คำดังกล่าวนี้สามารถนำมาสร้างเป็นคำใหม่ให้ฟังดูเท่ๆและต้องไปเปิดพจนานุกรมดูเอาถ้าอยากจะรู้ความหมายแบบชัดๆ

นั่นคือเมื่อนำคำว่า “โลก” กับคำว่า “ทัศน์” มารวมดันเข้าด้วยวิธีการสร้างคำใหม่ในหลักการแบบภาษาบาลี-สันสกฤต ที่เรียกว่าการ “สมาส” ก็จะได้เป็นคำใหม่ว่า “โลกทัศน์” และ เช่นกัน ถ้านำคำ “พัฒน์” มารวมเข้ากับคำว่า “พิษ” (ด้วยวิธี “สมาส”เช่นเดียวกัน) ก็จะเกิดเป็นคำใหม่ว่า “พัฒนพิษ” หรือ “พิษพัฒน์”

บทความชิ้นนี้จึงอาจสามารถตั้งชื่อให้ดูเท่ๆได้อีกอย่างน้อย 2 ชื่อ คือ “โลกทัศน์ และ พัฒนพิษ” หรือ “โลกทัศน์ และพิษพัฒน์”!

ส่วนเรื่อง “เจตนา” ในการตั้งชื่อบทความให้เป็นคำที่ฟังดู “แปลกๆ” / “แขกๆ” หรือ “เชยๆ” และ “เข้าใจยาก” อย่างคำที่ยกมานั้น คนไทยรุ่นปัจจุบันมักคิดว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า หรือ พวก “ตกสมัย” เพราะ…

คำที่ “ไม่แปลก” หรือ “ไม่เชย” หรือ “ทันสมัย” ใน “การใช้ภาษาไทยยุคปัจจุบัน” นั้น ฟังว่าต้องเป็น “ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ” หรือ “ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน” เพราะทั้ง 2 ภาษานี้ เป็นภาษาของ “ประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตก” ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ “พัฒนา” จน “ทันสมัย” แล้ว…

ซึ่ง “ชนชั้นนำ” ของสังคมไทยเพิ่งไป “สมาทาน” รับมาเป็น “สรณะ” เพื่อ “พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” (Modernization) อย่างไม่ลมหูลืมตา มาเมื่อไม่นานเกินศตวรรษหรือไม่เกิน 100 ปี มานี้เอง

แน่ละเมื่อ “สมาทาน” เอารูปแบบ “ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิต” (The relation of production System) ซึ่งเป็นรูปแบบของ “โครงสร้างชั้นล่าง” (Base Structure) ทางสังคมแบบนั้นมา ก็ย่อมจะต้องเกิด “ผลผลิต”(Products) ของมันตามมาโดยปริยาย (เพราะไม่ได้วาง “ยุทธศาสตร์” เชิงป้องกันไว้ก่อน)

นั่นคือการเกิดตามมาของ “โครงสร้างชั้นบน” (Super structure) รูปแบบหนึ่งๆตาม “กฎ” ของระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตๆหนึ่งๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

สิ่งที่เรียกว่า “โครงสร้างชั้นบนของสังคม” ก็คือปรากฏการณ์ทางรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” (Culture) อันได้แก่ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบกฎหมาย รวมไปถึง “ระบบคุณค่า” ทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับ “ความดี” และ “ความงาม” เช่น ระบบคุณธรรม-จริยธรรม หรือ ระบบศีลธรรม และระบบที่เกี่ยวกับการศิลปะ(Arts) เป็นต้น

ก่อนที่จะแลกเปลี่ยนลงลึกเลยเถิดไปถึงเรื่องพวกนี้ตอนนี้ “เราควร” มา “ทำความเข้าใจที่ตรงกัน” เกี่ยวกับ “คำ” ที่เป็นเหมือน “หญ้าปากคอก” ของชื่อบทความเรื่องนี้กันเสียก่อนสักหน่อยน่าจะดี

ก็ให้คิดเสียเพียงว่า ลองมา “ฝึก” เปิดพจนานุกรมหาความหมายของ “คำ” ที่นักปราชญ์ทางภาษาไทยเขากำหนดไว้ให้ใช้ จาก “พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ที่คนไทยยุคปัจจุบันส่วนใหญ่เลิกสนใจใช้ไปนานแล้ว (เขาว่า เพราะไม่มีประโยชน์อะไร/เสียเวลาเปล่าๆ ฯลฯ)

อย่างน้อยก็อาจจะทำให้ได้เข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างว่า ชื่อรายการบางรายการของสถานีโทรทัศน์วิทยุประเภท “ฟรี ทีวี.”บางช่อง ที่ตั้งว่าจาก “ราก” สู่ “เรา” นั้น แท้ที่จริงแล้วมีความหมาย หรือ “เจตนา” ของวลีดังกล่าวอย่างไร?

เชื่อเถอะ จะไม่เสียเวลาเปล่าดอก คงจะได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้างเป็นแน่ ไม่วันนี้ก็อาจเป็นวันใดวันหนึ่งในเวลาเบื้องหน้าแหละน่า!

เอาละคำแรกที่ควรต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ก็คือคำว่า “โลก” คำนี้ “พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้ความหมายไว้ดังนี้ :

“(โลก โลกะ– โลกกะ–] น. แผ่นดิน โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลก นิยม  ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลก  พระอังคาร  (ภูมิ) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว 12,755 กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว 12,711 กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก 510,903,400 ตารางกิโลเมตร. (ป. ส.)” ส่วนคำที่ 2 คือคำ “ทัศน์” นั้น บรรดาปราชญ์แปลไว้ว่า : “[ทัดสะนะ- ทัด ทัดสะ-] น. ความเห็น การเห็น เครื่องรู้เห็น สิ่งที่เห็น การแสดงทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสสน ,ส. ทรฺศน)” คำที่ 3 คือคำ “พัฒน์” หรือ “พัฒน”  คำนี้มีความหมายว่า : [พัดทะนะ] น. ความเจริญ. (ป. วฑฺฒน , ส. วรฺธน).” และ คำสุดท้าย คือคำ “พิษ” คำนี้ “พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตฯ” อธิบายไว้ค่อนข้างยาว ดังนี้ :  “[พิด พิดสะ] น. สิ่งที่ร้ายเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือให้ความเดือดร้อนแก่ จิตใจ  สิ่งที่ร้ายเป็นอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทําให้ตาย เจ็บปวด หรือพิการได้ บางอย่างเกิดจากแร่ เช่น สารหนู บางอย่างเกิดจากต้นไม้ เช่น ต้นแสลงใจ บางอย่างเกิดจากสัตว์ เช่น งู (ส. วิษ/ป. วิส)

ฯลฯ

เมื่อเอาความหมายของคำ 4 คำ คือคำ “โลก”/ “ทัศน์” / “พัฒน์”/และ “พิษ” ซึ่งเป็นชื่อบทความชิ้นนี้ มาอรรถาธิบาย โดยใช้นิยามจาก “เอกสารของชาติ” อย่าง “พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” มาอ้างอิงไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องถือว่า คนเขียนกับคนอ่านคงมี “ความเข้าใจ” ในเรื่องที่จะคุยแลกเปลี่ยนตรงกันแล้วละนะ

ต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องที่ “ผู้นำเสนอความคิดเบื้องต้น” คือคนเขียนบทความชิ้นนี้(อาจต้องเขียนยาวหลายตอนยาวกว่าบทความหนังสือพิมพ์รายวันทั่วๆไปแบบปกตินิดหนึ่ง!) จะได้นำเสนอถ้อยความที่คิดว่าควรจะต้องนำเสนอต่อไป(เพื่อหวังก่อประโยชน์ตามที่คนเขียนคิดและเห็นเป็นเจตนาเบื้องต้น)

ส่วนเรื่องดังกล่าวนี้จะยังประโยชน์ต่อใครหรือต่อสังคมหรือไม่ ควรจะฟังหรือไม่ควรรับฟังก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปตาม “ยะถา” ของเหตุแห่ง “ภววิสัย” และ “อัตวิสัย” นั้นๆเทอญฯ!!