มูลนิธิชัยพัฒนา ให้ความหมาย  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่เพียงในประเทศไทยที่มีผู้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้แล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก ในเวทีระหว่างประเทศ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นสากลและเป็นสิ่งที่สามารถนําไปปฏิบัติได้จริงเพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ข้อความนี้ระบุอยู่ในปฏิญญาของรัฐมนตรี กลุ่ม 77 ที่ได้มีการรับรองในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2559 ในการประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ได้น้อมนําปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เป็นหนึ่งแนวทางสำหรับการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายใต้นโยบายที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development Goals Partnership” หรือสั้น ๆ ว่า “SEP for SDGs Partnership”

แม้แต่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

บางช่วงบางตอนนายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

แม้จะมีความพยายามด้อยค่าจากกลุ่มบบุคลบางพวกบางฝ่าย ที่ไม่ได้มองเห็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมากไปกว่าอคติบนม่านตาของตนเอง แต่ทองแท้นั้นทนไฟ ใครที่ยังเข้าหูซ้าย ทะลุหูขา ก็ถือว่าเป็นกรรมก็แล้วกัน