นอกเหนือไปจากกระแสเคลมนโยบายกันระหว่างพรรคการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยยืนยันเป็นผู้คิดค้นนโยบายเอง โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมายืนยันว่าว่าเป็นคนคิดนโยบายนี้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แนวทางตามที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงกรอบแนวคิดของนโยบายดังกล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณานโยบาย “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรืออาจเรียกสั้นๆว่า “สลากเกษียณ” หรืออย่างไม่เป็นทางการว่า “หวยเกษียณ” ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาได้ตอนเกษียณ (อายุ 60 ปี) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้น (สามารถเปลี่ยนได้ภายหลัง) ดังนี้

1.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน ม. 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน


2.สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันที โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม


3.รางวัลของ “ทุกวันศุกร์” กำหนดดังนี้ (อาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
3.1.รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
3.2.รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล


4.“เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก” (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า  โดยนโยบายนี้จะเข้าแก้ไขปัญหาคนไทยแก่แต่จน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ เพราะการออมภาคสมัครใจในปัจจุบันไม่ได้ผล ต้องอาศัยการออมที่ผูกกับแรงจูงใจ ซื้อสลาก ถูกกฎหมาย เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ ถูกรางวัลได้เงินเลย ไม่ถูกทุกบาททุกสตางค์จะถูกเก็บเป็นเงินออมยามเกษียณ ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก มีเงินออมมาก นโยบายนี้อยู่ระหว่างขัดเกลารายละเอียด และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ( 6 เดือน – 1ปี) ไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างแน่นอน แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ เราเชื่อว่าหากนโยบายดังกล่าวมีการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดให้ตอบโจทย์ และสมดุลเรื่องงบประมาณภาครัฐแล้ว เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะการรับมือสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ด้วย