เสรี พงศ์พิศ

Fb Seri Phogphit

หลายพันปีสังคมจีนได้วางรากฐานสังคมด้วยปัญญาญาณของบรรดานักปราชญ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางสังคมการเมือง ต่อมามีการปฏิวัติเปลี่ยนสังคมแบบหักโค่นมาใช้สังคมนิยมประยุกต์แบบ “เหมา”

มีความพยายามลบล้างประเพณีวิถีวัฒนธรรมความเชื่อจีนดั้งเดิมทั้งหมดในช่วง 1965-1975 แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นฝันร้าย จีนหันมาผ่อนปรน ประนีประนอม ประยุกต์ด้วยแนวคิด “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” อันเป็นจุดกำเนิดของ “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” มาจนถึงทุกวันนี้

จีนหันกลับไปส่งเสริมภูมิปัญญาเก่าแก่ เพราะมีหลายส่วนที่สอดคล้องกับอุดมการณ์สังคมนิยม อย่างคำสอนของขงจื๊อเกี่ยวกับความประสานสามัคคี สวัสดิการสังคม บทบาทของรัฐในการจัดการสังคม คำสอนเรื่องการเคารพพ่อแม่ ผู้ใหญ่ บรรพบุรุษ ผู้ปกครองบ้านเมือง

จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้มีสถาบันขงจื๊อกว่า 530 แห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีน

หนังสือเล่มเล็กที่คัดปรัชญาขงจื๊อ โดยหยู ตาน อาจารย์สอนปรัชญานำมาเผยแพร่ในแบบเข้าใจง่าย ขายเมื่อสิบกว่าปีก่อนได้กว่า 11 ล้านเล่ม สะท้อนความสนใจของประชาชนในการ “คืนสู่รากหง้า”

นอกจากขงจื๊อ จีนก็ยังเลือกคุณค่าและปรัชญาที่สอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์สังคมนิยมของนักปราชญ์จีนโบราณอื่นๆ อย่างของโมจื้อ ที่สอนเรื่องภราดรภาพสากล การแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียม หลายประเด็นที่ดูจะไปได้กับสังคมนิยมจีนมากกว่าแนวคิดของขงจื๊อเสียอีก

ในประเทศตะวันตกอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และอื่นๆ ระบบคุณค่าอันป็นรากฐานทางสังคมมีพัฒนาการมาหลายพันปีตั้งแต่ยุคกรีก ยุคโรมัน ที่พัฒนาปรัชญา วิชาการต่างๆ โดยเฉพาะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บน “สองขา” คือปรัชญารัฐศาสตร์และเทวศาสตร์

หนึ่งพันปีแรก (500 ปีก่อนค.ศ.ถึง 500 ปีหลังค.ศ.) เป็นยุคสร้างรากฐานสำคัญด้วยอารยธรรมกรีกและโรมัน ที่ให้กำเนิดศาสตร์ต่างๆ ที่มาจาก “ปัญญา” มนุษย์ ต่างจากเดิมที่มาจาก “ความเชื่อ” ในตำนานเทพเจ้า

หนึ่งพันปีที่สอง (ศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 15) ที่เรียกกันว่ายุคกลางนั้น มีรากฐานทางศาสนาคริสต์เป็นหลัก บรรดานักปราชญ์พยายามใช้ “เหตุผล” อธิบาย “ความเชื่อ”

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ยุคเกิดใหม่ (Renaissance) หรือ ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม บนรากฐานเดิมที่วางไว้เมื่อสองพันปีก่อน เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การค้นพบโลกใหม่ การค้าพาณิชย์ การเดินทางไปมาหาสู่

สังคมในยุโรปเริ่มปลดปล่อยจากประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อเดิมคล้ายกับสองพันปีก่อนที่กรีกเริ่มปลดปล่อยจากเทพปกรณัม ยุโรปปรับจาก “เทวสิทธิ์” มาเป็น “สิทธิมนุษยชน” จาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ประชาธิปไตย” และ “สาธารณรัฐ”

อังกฤษเริ่มต้นเป็นรูปธรรมเมื่อมีการร่าง “กฎบัตรใหญ่เพื่อเสรีภาพ” (Magna Carta) เมื่อปี 1215 ที่คานอำนาจกษัตริย์ พัฒนาเป็นระบบรัฐสภาก่อน “ชาติ” อื่นๆ รวมไปถึงการวางรากฐานประชาธิปไตย ด้วยแนวคิด “สัญญาประชาคม” โดยจอห์น ล็อค ที่สานต่อโดยรุสโซที่ฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

ฝรั่งเศสไม่ได้ค่อยๆ พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ แต่มีการ “ปฏิวัติ” ด้วยอุดมการณ์ “เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ”  ปูทางไปสู่สังคมใหม่ให้คุณค่าแก่ศิลปะ ทางเลือกใหม่แบบ “ไม่มีศาสนา” (secularized society) เน้นที่วรรณกรรม ศิลปะต่างๆ การทำอาหาร แฟชั่น

ฝรั่งเศสเป็นชาติที่เน้นแนวคิดการใช้เหตุผล ด้วยแนวคิดเหตุผลนิยมสูงสุดแบบ “เดการ์ต” วิพากษ์จารีตประเพณีวิถีดั้งเดิม ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

ขณะที่เยอรมนีมีรากฐานที่พัฒนาการเป็นชาติที่เคารพ  “ระเบียบ” (order) ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ระบบโครงสร้าง เป็นชาติที่ทำอะไรให้ได้คุณภาพสมบูรณ์แบบ  ตรงต่อเวลา มีความละเอียดในทุกเรื่อง ความแม่นยำ ความเป็นชุมชน สังคม ครอบครัว เพื่อน ซื่อสัตย์ในมิตรภาพ ความสัมพันธ์ มีความรับผิดชอบ  ให้ความสำคัญกับการศึกษา การเรียนรู้ ทุกอาชีพต้องผ่านการเรียนและฝึกฝน มี “ใบเซอร์” ประกอบอาชีพไม่ว่าอาชีพใด

ยกตัวอย่างของจีนและสามประเทศในยุโรปเพียงเพื่อประกอบความคิดที่ว่า สังคมเป็นอย่างที่เป็นวันนี้เกิดจากพัฒนาการที่ยาวนาน มีอุดมการณ์เป็นรากฐาน ล้วนปรับประยุกต์ให้เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยไม่ลืมอดีต แม้จะนำเอาคุณค่าจากชาติอื่น วัฒนธรรมอื่นมาประยุกต์ ก็ยังรักษารากเหง้าและอัตลักษณ์ของตนเองไว้

ประเทศไทยเป็น “รัฐชาติ” เมื่อร้อยกว่าปีมานี้  เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญิสิทธิราชย์มาเป็น “ประชาธิปไตย” เมื่อ 92 ปีที่แล้ว ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา มีรัฐประหาร 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ

อุดมการณ์ของไทยที่ถือกัน คือ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อื่น ด้วยเหตุนี้ ในรัฐธรมนูญไทย มาตรา 1 จึงบอกว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” (ขณะที่รัฐธรรมนูญเยอรมันเริ่มต้นด้วย “ศักดิ์ศรีของมนุษย์ละเมิดมิได้”)

เมื่อเรายก “ชาติ” ก่อน “ประชาชน” รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ จึงปกป้อง  “อุดมการณ์” ทั้งสามจน กลายเป็น “ตาบู” ที่ละเมิดมิได้ ไปจน “แตะต้อง” มิได้

บ้านเราเอาแต่วุ่นวายกันทางการเมือง แย่งชิงอำนาจตลอดมา จนไม่มีเวลาคิดเรื่อง “อุดมการณ์” ของชาติ เพราะจริงๆ แล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้มีอุดมการณ์ ถ้ามีก็ประเภท “ประโยชน์นิยม” จึงตระบัดสัตย์ เปลี่ยนจุดยืนแบบไม่อาย แทนที่จะส่งเสริมให้มั่นคง กลับเอา “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจของตน รวมทั้งจัดการฝ่ายตรงกันข้าม

สังคมไทยไม่สนใจระบบคุณค่าดั้งเดิม จึงกลายเป็นเหมือนสังคมไร้ราก ไม่มีวิธีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสืบทอด คนรุ่นใหม่ไม่สนใจและไม่เข้าใจ จนกลายเป็นคนที่ไม่มีอัตลักษณ์ ไปรับเอาจากที่อื่นๆ มาหมด หาความเป็น “ไทย” ไม่ได้