เสือตัวที่ 6

ในขณะที่กระบวนการนำความสงบสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้นผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพตามวาทกรรมของฝ่ายเห็นต่างจากรัฐที่นำโดยกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นมาจนถึงห้วงเวลาสำคัญคือมีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างฝ่ายเทคนิคของคณะพูดคุยสันติสุขตัวแทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายเทคนิคของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐนำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเริ่มประชุมเมื่อ 20 พ.ค. 67 โดยมีวัตถุประสงค์ในการเจรจาเพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกันในขอบเขตของการหารือหรือทำข้อตกลง ซึ่งจะเป็นรายละเอียดที่ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติร่วมกันในช่วงของการลดสถานการณ์ความรุนแรงตามเป้าประสงค์ของการพูดคุยเจรจาสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งการพูดคุยเจรจาต่อรองระหว่างกันในครั้งนี้นับเป็นห้วงเวลาสำคัญยิ่งในการได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการเดินหน้าตามกรอบการปฏิบัติเพื่อการแสวงหาจุดลงตัวตามความต้องการของแต่ละฝ่ายต่อไป

การเจรจาสันติภาพที่จัดขึ้นประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุดนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญไปสู่การลงนามในข้อตกลงสันติสุข และเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการลดความรุนแรง ส่วนในประเด็นของการหารือสาธารณะ จะมีการพูดคุยในภาพกว้างถึงแนวทางที่จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และในระหว่างการเจรจาต่อรองเพื่อเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางของแต่ละฝ่าย ก็ยังคงมีเหตุรุนแรงในพื้นที่โดยฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของขบวนการเห็นต่างที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นผู้กระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องและคงความรุนแรงอย่างที่เคยกระทำมาอย่างคู่ขนานกับการเจรจาสันติภาพที่กำลังต่อรองกันอย่างเข่มข้น และในการเจรจาสันติภาพในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมารวมทั้งครั้งนี้ ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ยังคงเป็นฝ่ายรุกไล่กลุ่มคนที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐอย่างเหนือชั้นและต่อเนื่อง โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นยังคงใช้การปฏิบัติการทำร้ายทำลายความสงบสุขเพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายได้เปรียบ เป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายรัฐในทุกรูปแบบแม้กระทั่งการต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังติดอาวุธของรัฐที่มีอยู่กลาดเกลื่อนในพื้นที่

ขบวนการร้ายแห่งนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะใช้อาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐในทุกโอกาสที่พวกเขาต้องการโดยที่รัฐไม่อาจต้านทานหรือตอบโต้ได้ การลงมือก่อเหตุร้ายในทุกครั้งจึงเกิดปรากฏการณ์ที่ว่ามีความสำเร็จตามเป้าหมายโดยสมบูรณ์ของกลุ่มก่อเหตุร้ายและสามารถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเหลือเชื่อ 20 พ.ค.67 เกิดเหตุระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ อส. (สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน) ชุดคุ้มครองตำบลจวบ (ชคต.จวบ) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยกองกำลังติดอาวุธของขบวนการบีอาร์เอ็นได้วางระเบิดไว้ 2 จุด ทำให้เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครูเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 7 นาย ส่วนอีก 1 จุดลอบวางระเบิดริมถนนในหมู่บ้าน ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทาง ซึ่งแรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ซึ่งในจำนวนนั้นมีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิดที่โจรร้ายวางดักไว้จนทำให้ขาขาดทั้ง 2 ข้าง และในการปฏิบัติการร้ายครั้งนี้ กลุ่มกองกำลังติดอาวุธก็บรรลุเป้าหมายการก่อเหตุและสามารถหลบหนีการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐไปได้อย่างลอยนวลเช่นเคย สร้างบรรยากาศของความน่าสะพรึงกลัวให้กลับมาในวงกว้างอีกครั้ง ทั้งยังตอกย้ำให้เห็นว่ากลุ่มคนในขบวนการเห็นต่างเพื่อแบ่งแยกการปกครองปลายด้ามขวานของรัฐไทยแห่งนี้ยังคงมีศักยภาพที่เข้มแข็งในทุกองคาพยพของการต่อสู้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปลายทางสุดท้ายของพวกเขา นั้นคืออิสรภาพการปกครองกันเองของขบวนการร้ายแห่งนี้โดยสมบูรณ์

จากข้อมูลเชิงลึกพบว่า ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐที่นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นยังรุกไล่ฝ่ายรัฐในทุกมิติอย่างเข้มข้นและเป็นระบบที่ต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและสร้างเหตุร้ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเร่งสร้างและขยายแนวร่วมต่อสู้กับรัฐด้วยการสั่งสมบ่มเพาะความเห็นแปลกแยกแตกต่างจากรัฐในทุกส่วนของพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งสู่ความเห็นร่วมของคนในพื้นที่ที่ต้องการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง (RSD) อย่างจริงจัง รวมทั้งการสร้างแนวร่วมทางความคิดให้เกิดกับคนนอกพื้นที่ในทุกระดับของสังคมเพื่อให้คนกลุ่มนี้เป็นแนวร่วมการต่อสู้กับขบวนการร้ายแห่งนี้อย่างทรงพลังมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว การคงความเข้มข้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธที่กระทำกับเป้าหมายที่เลือกแล้วและเป็นเป้าหมายที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการบรรลุเป้าหมายสุดท้ายของขบวนการแห่งนี้ทั้งเป้าหมายเจ้าหน้าที่รัฐ คู่ขนาน สอดรับไปกับการต่อสู้ทางความคิดผ่านเวทีการเจรจาสันติภาพอย่างกลมกลืนยิ่ง

ในห้วงสำคัญของกระบวนการเจรจาสันติภาพที่กำลังเข้มข้นครั้งนี้ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างฝ่ายเทคนิคของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายเทคนิคของกลุ่มเห็นต่างจากรัฐนำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันในแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพตามความหมายของแต่ละฝ่าย จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญยิ่งที่หนทางในก้าวย่างต่อไปที่ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายได้เปรียบและมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายปลายทางของฝ่ายตนมากกว่ากัน และในเวทีการเจรจาในทุกครั้งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ จะพบว่าการเจรจาของฝ่ายที่จะเป็นฝ่ายบรรลุเป้าหมายของตนมากที่สุด ต้องเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าคู่เจรจาที่ชัดเจน ซึ่งอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอีกฝ่ายนั้นก็ย่อมได้มาซึ่งอำนาจการต่อสู้ด้วยอาวุธที่สามารถบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีทางเลือกในการต่อรองมากนักและบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งจำยอมตามเงื่อนไขที่ฝ่ายตนต้องการ ดังนั้นขบวนการบีอาร์เอ็นจึงต้องเร่งจังหวะเพิ่มความถี่ละขยายความรุนแรงในการก่อเหตุมากขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าฝ่ายรัฐอย่างเห็นได้ชัด