ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้พูดคุยกันเรื่องความขัดแย้งกันไปพอสังเขป วันนี้ผมอยากจะขอขยายความสิ่งที่ได้กล่าวไว้ในสัปดาห์ที่แล้วครับ

ท่านผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่า ขึ้นชื่อว่าความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ชุมชน หรือระดับระหว่างประเทศ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นความขัดแย้งของ “มนุษย์” แล้วล่ะก็ ย่อมหนีไม่พ้นสองสิ่ง หนึ่ง “ความเป็นพวกพ้อง” สอง “ผลประโยชน์” ครับ

เมื่อไม่ใช่พวกพ้อง ความขัดแย้งย่อมเกิดง่าย ดีก็กลายเป็นไม่ดี ชอบก็กลายเป็นไม่ชอบได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนมีการบริหารจัดการกันภายในฝูงของตนเอง ก่อให้เกิดความหวงแหนในกลุ่มก้อนและนำไปสู่อคติต่อสิ่งที่มาจากนอกกลุ่มของตน จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาการทำงานของสมองและสัญชาตญาณของมนุษย์ทำให้พบว่า สิ่งที่กล่าวมาเป็นสัญชาตญาณการระวังภัยอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่มักมองสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรืออยู่เหนือการควรคุมเป็นภัยคุกคาม ดังนั้น มนุษย์สองคน ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด กายภาพ หรือวัฒนธรรม ก็อาจมองกันและกันว่าเป็นคนละพวกและสามารถเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะมนุษย์มีอคติเป็นสัญชาตญาณและเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องตัวเอง ดังนั้น มนุษย์สองกลุ่ม หรือสองประเทศ ก็ย่อมหลีกหนีสัญชาตญาณและกลไกพื้นฐานดังกล่าวไม่พ้น

นอกจากความเป็นพวกพ้องแล้ว อีกประการที่สำคัญคือ ผลประโยชน์ มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ เพราะมนุษย์เองก็ยังเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่แม้จะมีการพัฒนามาไกลจนมีเลเยอร์ทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นตัวขั้นความต้องการพื้นฐาน แต่สุดท้ายก็ยังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเหมือนสัตว์อื่นๆ  ดังนั้นแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร แต่จุดหมายปลายทางก็ยังเป็นความอยู่รอดตามสัญชาตญาณ เมื่อผลประโยชน์ไม่ว่าจะมิติใดล้วนเป็นปัจจัยของความอยู่รอด ผลประโยชน์จึงสำคัญและฝังอยู่ในสัญชาตญาณการตัดสินใจของมนุษย์เสมอ

เมื่อมามองถึงความขัดแย้ง บางครั้งอาจไม่ใช่พวกกัน แต่มีผลประโยชน์ให้กัน ก็อาจจะพอถูๆไถๆ ไม่ตีกัน จนบางครั้งก็อาจนำไปสู่การเป็นพวกพ้องกัน ในทางกลับกันเมื่อผลประโยชน์ขัดกันจากพวกพ้องเดียวกันก็อาจกลายเป็นศัตรูกันได้เช่นกัน ความเป็นพวกพ้องและผลประโยชน์จึงแยกจากกันไม่ขาด ซึ่งผมจะขออธิบายความขัดแย้งที่เกิดจากสองปัจจัยข้างต้นในรูปแบบสมการดังนี้

สมมติว่า ความเป็นพวกพ้อง คือ A และ ผลประโยชน์ คือ B

โดยมีสมมติฐานว่า ความขัดแย้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อ  A+B≤0 

โดยที่ให้ A = +1, 0, หรือ -1 ; B = +1, 0, หรือ -1

ซึ่ง +1 แสดงถึงความเป็นบวก, 0 แสดงถึงความกลางๆ ไม่บวกไม่ลบ, และ -1 แสดงถึงความติดลบ ของทั้งสองปัจจัย

            

จากตัวอย่างการคำนวณในตารางข้างต้น หากมีความเป็นพวกพ้องกันในระดับบวก (+1) และมีผลประโยชน์กันในระดับบวก (+1) สมการที่ได้จะออกมาเป็น 1+1 = 2 จะเห็นได้ว่า มีค่ามากกว่า 0  สถานการณ์เช่นนี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำที่จะเกิดความขัดแย้ง

หากมีความเป็นพวกพ้องในระดับบวก (+1) แต่มีผลประโยชน์ติดลบ (-1) หรือขัดผลประโยชน์กัน สมการที่ได้จะออกมาเป็น 1+(-1) = 0 จะเห็นได้ว่า มีค่าเท่ากับ 0 สถานการณ์เช่นนี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความขัดแย้งได้

และหากมีความเป็นพวกพ้องในระดับติดลบ คือมองกันเป็นศัตรู (-1) และ ขัดผลประโยชน์กัน (-1) เช่นนี้ สมการที่ได้จะออกมาเป็น (-1) + (-1) = -2 จะเห็ได้ว่า มีค่าน้อยกว่า 0 สถานการณ์เช่นนี้มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเกิดความขัดแย้ง เป็นต้น

แต่ก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านทุกท่านว่า ทฤษฎีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา สิ่งที่นำมาเล่าให้อ่านกันวันนี้เป็นเพียงหลักการพื้นฐานเท่านั้น ยังไม่ได้มีความสำคัญในฐานะทฤษฎีทางวิชาการแต่อย่างใด  ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการจะต้องออกแบบการวัดค่าให้ได้ว่าความสัมพันธ์แบบใด มิติใด เป็นบวกหรือลบ มากน้อยเพียงใด และทำการพิสูจน์ด้วยชุดข้อมูลอีกหลายขั้นตอน

อย่าไรก็ดี สิ่งที่ผมอยากจะสื่อให้กับท่านผู้อ่านได้ลองคิดกันต่อ คือความเป็นพวกเป็นพ้องกันนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่? เพราะที่ผ่านมาเราชอบมองเรื่องพวกพ้องเป็นเรื่องติดลบ โดยเอาไปผูกไว้กับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งผู้เขียนมองว่าแท้จริงแล้วทุกสิ่งเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งบวกและลบในตัวเอง ดังนั้นมุมมองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีความสำคัญ และหากทุกสรรพสิ่งเป็น “เหรียญสองด้าน” ถ้าเราจะมอง “ด้านเดียว” ก็คงจะไม่ครบถ้วน จริงไหมครับ?