เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phogphit
อุดมการณ์สำคัญกว่าชีวิต หลายคนจึงสละชีพเพื่ออุดมการณ์ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดหรือที่ไหนก็มีคนที่ยอมทนทุกข์ยากลำบากและยอมตายเพื่ออุดมการณ์
คนจำนวนมากออกจากบ้านเรือน จากครอบครัว พ่อแม่ลูกเมีย เข้าป่า ไปนอนกลางดินกินกลางทราย หลัง “6 ตุลา” คนหลายพันคนหยุดเรียน หยุดทำงาน เข้าป่า ด้วยต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาพบว่ามีความไม่เป็นธรรม ไม่มีเสรีภาพ แทนที่จะอยู่ สู้ไม่ได้ก็ไปสู้ตายเอาดาบหน้าในป่า
หลายสิบปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากเสี่ยงชีวิต เสี่ยงคุกตะราง ประท้วงโดยการเดินขบวน อดอาหาร การแสดงความคิดเห็น การรณรงค์เพื่อให้ได้สังคมที่ดีกว่า หลายคนติดคุก หลายคนเสียชีวิต
อุดมการณ์เป็นระบบความคิด ความเชื่อ ความเชื่อมั่น ที่มาจากการมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง และทำให้มองสังคม “ในอุดมคติ” แบบนั้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แตกต่างจากคนที่มีอำนาจ
หลายคนมีความชื่อมั่นที่ “หนักแน่นและรุนแรง” แสดงออกด้วยการกระทำ เป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่มีเป้าหมายสูงส่ง ที่ให้ความหมายแก่ชีวิตของตนเอง และต้องการเห็นสังคมเป็นเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความสงบสุขแก่ปวงชน เพราะทนไม่ได้กับการคอร์รัปชั่นอำนาจในการจัดการบ้านเมือง
การยอมสละชีพเป็นความตั้งใจเพื่อปกป้องอุดมการณ์ ที่ถูกละเลยไปจนถึงถูกทำลายด้วยระบบที่ฉ้อฉล จึงมีคนที่ลุกขึ้นมาปกป้อง และเรียกร้องให้คนอื่นๆ ทำเช่นเดียวกันไม่ว่าด้วยวิธีใด
ในมหากาพย์อีเลียดของโฮเมอร์ มารดาของอะกิลเลสนำลูกไปจุ่มแม่น้ำอมตะ แต่ก็ยังเหลือจุดตายที่ส้นเท้า มารดาบอกลูกว่า ถ้าลูกไม่ไปรบ อยู่บ้าน มีครอบครัว มีชีวิตเหมือนคนทั่วไปก็จะมีความสุข อายุยืน แต่ถ้าไปรบก็จะอายุสั้น แต่คนจะจดจำไปชั่วกาลนาน
อะกิลเลสผู้กล้าหาญและทระนงไปรบเพื่อปกป้องความยุติธรรม เพื่อนำราชินีเฮเลนที่ถูกลักพาไปคืนให้กษัตริย์สปาร์ตา แม้ตีกรุงทรอยแตก ก็ถูกสังหารด้วยธนูที่ส้นเท้า แต่ชื่ออะกิลเลสก็เป็นที่จดจำมาจนถึงวันนี้
พระนามหนึ่งที่คนทั่วโลกรู้จักและจดจำ มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อวิถีของชาวโลก คือ พระเยซู ผู้ทรงสอนและเป็นแบบอย่างของผู้ที่สละชีพเพื่ออุดมการณ์ ยอมถูกทรมาน ถูกตรึงกางแขน เพราะผู้มีอำนาจในสังคมรับไม่ได้ ไม่ว่าทางการเมืองหรือวัฒนธรรม อำนาจโรมันในข้อหา “ขบถ” อำนาจผู้นำศาสนายิวในข้อหา “ทำลายศาสนา”
“อุดมการณ์” ของพระเยซูกลายเป็น “ศาสนาคริสต์” และมีระบบโครงสร้างเป็นศาสนจักรที่แพร่ไปทั่วโลก เช่นเดียวกับหลายศาสนา ความเชื่อ ที่กลายเป็นอุดมการณ์ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์จึงมีคนที่ยอมสละชีพเพื่อศาสนา ที่เรียกว่า “มาร์ตีร์” หรือ “มรณสักขี” จำนวนมาก และได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศรีและนักบุญจากศาสนจักรคาทอลิก เช่น กรณีของชาวบ้านสองคอนที่มุกดาหาร 7 คนที่ไม่ยอมละทิ้งศาสนา และถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีน
ทางสังคม ระบบคุณค่าของศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมโลกทั้งตะวันตกตะวันออก ยุโรป เอเชีย จีน อินเดีย อาหรับ ที่มาของการจัดการทางสังคม กฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง
ทางเศรษฐกิจ มักซ์ เวเบอร์ ในหนังสือ “จริยธรรมโปรเตสแตนท์และการเติบโตของทุนนิยม” วิเคราะห์ให้เห็นบทบาทสำคัญของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
ทางการเมือง อุดมการณ์ศาสนาถูกนำไปใช้ในยุคล่าอาณานิคม มหาอำนาจตะวันตกขยายอำนาจไปทั่วโลกนำโดยทหาร มิชชันนารีและพ่อค้า ที่ไปไหนไปด้วยกัน
ศาสนาได้กลายเป็นสาเหตุหรือข้ออ้างเพื่อการทำสงคราม อย่างสงครามครูเสดนับร้อยปีเมื่อ 800 กว่าปีก่อน สงคราม 30 ปีในยุโรปเมื่อ 400 ปีก่อน และการสู้รบระหว่างโปรเตสแตนท์กับคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือมาหลายสิบปี สาเหตุสำคัญหนึ่ง คือ “ศาสนา” ที่แยกไม่ออกจาก “การเมือง”
มาจนถึงวันนี้ ที่มีการนำศาสนามาเป็น (ข้ออ้าง) ทางอุดมการณ์เพื่อทำสงคราม อย่างกรณี IS และการนำมาเป็นพื้นฐานทางกฎหมายและการจัดระเบียบเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมในบางประเทศมุสลิม
หลายคนยอมสละชีพเพราะต้องการเห็นสังคมในอุดมคติ สังคมที่เป็นธรรม มีเสรีภาพ มีการประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว (harmony) ในทุกส่วน อันเป็น “อุตมรัฐ” หรือ รัฐในอุดมคติของเพลโต นักปรัชญากรีกที่เป็นรากฐานของ “รัฐศาสตร์สากล” มาจนถึงวันนี้
เราเห็น “ยูโทเปีย” สังคมในอุดมคติของโทมัส โมร์ ที่อยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม มีการเป็นเจ้าของทุนและทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ความเสมอภาค การศึกษา ธรรมาภิบาล เสรีภาพทางศาสนา และการแสดงออก การเกษตร อุตสาหกรรม ระบบยุติธรรม ชีวิตที่เรียบง่าย แต่สุดท้าย เมื่อไม่ยอม “งอ” ต่ออำนาจรัฐ มั่นคงในอุดมการณ์ทางศาสนาและด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม ท่านก็ถูกประหารชีวิตในยุคสมัยพระเจ้าเฮนรี 8 เมื่อเกือบ 500 ปีก่อน วันนี้ศาสนจักรคาทอลิกตั้งท่านเป็นนักบุญและองค์อุปถัมภ์ของรัฐบุรุษ
สังคมในอุดมคติยังเป็นเพียง “ยูโทเปีย” คำที่เหมือน “ฝัน” ที่เป็นจริงไม่ได้ เพราะในทางปฏิบัติ คนทำตามคำแนะนำของมักเกียแวลลีมากกว่า ชอบ “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) มากกว่า “ยูโทเปีย” (Utopia) เพราะแนะนำว่า ทำอย่างไรจึงจะได้อำนาจมา และจะรักษาไว้ให้นานที่สุดได้อย่างไร
มักเกียแวลลีบอกว่า ประชาชนต้องมีศีลธรรม แต่ผู้ปกครองต้องอยู่เหนือศีลธรรม ไม่ต้องสนใจ “จริยธรรมหรือศีลธรรม” เพราะการเมือง “ไม่เกี่ยวกับศาสนา” ถ้าสนใจศีลธรรมก็จะปกครองไม่ได้
คำสอนมักเกียแวลลีได้กลายเป็น “คัมภีร์” ให้เผด็จการ ที่บอกว่า “เป้าหมายดีที่ให้บ้านเมืองสงบสุข ใช้วิธีการใดก็ได้” แม้แต่ความรุนแรง แนวคิดที่ถูกนำไปสร้างความชอบธรรมให้อีกหลาย “อุดมการณ์” ที่ทำให้มีการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในเยอรมนี ที่อื่นๆ ทั่วโลกทั้งในอดีต และในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์โลก เราจึงเห็นคน “ตายเพราะอุดมการณ์” เช่นเดียวกับที่ “สละชีพเพื่ออุดมการณ์” แม้ว่าอย่างแรกมีจำนวนมากกว่า แต่ที่ “สละชีพเพื่ออุดมการณ์” แม้คนเดียวก็มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง