ข้อมูลจาก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคนถูกหลอกลวงออนไลน์ในรอบปี 2566 ในจำนวนนี้เกินครึ่งหรือประมาณ 18.37 ล้านคน ตกเป็นผู้เสียหาย โดยคน gen Y เป็นกลุ่มถูกหลอกที่มีจำนวนผู้เสียหายมากที่สุดและมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ประเภทการหลอกลวงที่พบจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากที่สุดอยู่ในกลุ่มซื้อสินค้าออนไลน์และหลอกให้ลงทุน ลำดับถัดมาคือ หลอกรับสมัครงาน/ให้ทำงานออนไลน์/ทำภารกิจออนไลน์ หลอกว่ามีพัสดุตกค้าง หลอกเป็นคนรู้จักโดยปลอมหรือแฮคบัญชีหรือหลอกว่าคนรู้จักกำลังมีปัญหา หลอกให้กู้/แอปเงินกู้ผิดกฎหมาย หลอกเรียกเก็บเงิน/อ้างว่าค้างจ่ายค่าบริการต่างๆ หลอกให้รักออนไลน์ ด้านอัตราการตกเป็นผู้เสียหาย คือในคนถูกหลอก 100 คน หลอกสำเร็จ-ตกเป็นผู้เสียหายกี่คน พบว่า การหลอกลวงทำงานต่างประเทศโดยให้โอนเงินค่าประกันหรือค่าดำเนินการพบอัตราการตกเป็นผู้เสียหายมากที่สุด 35.6% มีมูลค่าความเสียหายต่อคนมากที่สุด 31,714 บาท

ปี 2566 ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่าประมาณ 49,845 ล้านบาท เฉลี่ย 2,660.94 บาท/คน นอกจากนั้นผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กลัวถูกคนใกล้ชิดกล่าวโทษจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ เช่น ไม่กล้ารับเบอร์แปลก/เบอร์ที่ไม่รู้จัก/ไม่มีในรายชื่อ เลี่ยงการใช้แอปพลิเคชันที่มีการให้กรอกข้อมูลส่วนตัว กังวลในการซื้อสินค้าออนไลน์/ซื้อสินค้าออนไลน์น้อยลง และอื่นๆ

ผลสำรวจพบปัญหาสุขภาพจิต ตั้งแต่การโทษตัวเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 61.3% หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลายเป็นคนที่หวาดกลัวต่อการดำรงชีวิต 43.9% รู้สึกสิ้นหวังและไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไป 22.6% พบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อช่วยเยียวยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 13.5%

ทั้งนี้หากดูจากข้อมูลข้างต้น โดยเฉพาะตัวเลขจากการสำรวจที่ทำงประชากรไทยอายุ 15-79 ปี ระหว่างวันที่ 21 ก.ค.- 31 ส.ค. 2566 รวม 6,973 ตัวอย่าง จาก 24 จังหวัด ยังพบคนไทยกว่า 36 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขของประชากรไทยในปี 2566 อยู่ที่  66 ล้านคนนั้นหมายถึงเกินครึ่ง ในขณะที่อาจมีประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สำรวจนั้น ถูกหลอกอีกเป็นจำนวนมาก

และที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ใช่เพียงผู้สูงวัยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ แต่เป็นเรื่องที่คนทุกวัยมีโอกาสเสี่ยง แม้จากผลสำรวจจะพบว่า กลุ่ม gen Y จะมีจำนวนที่ถูกหลอกลวงมากที่สุด ในขณะที่เราอาจเข้าใจกลุ่ม gen Y น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าในแต่ละวัยก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า กลุ่มมิจฉาชีพนั้นมีการปรับกลยุทธ์ในการหลอกหลวงให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

ที่น่ากังวลคือ และเราอยากเรียกร้องให้หามาตรการป้องกันที่เข้มข้นและเด็ดขาดคือ ข้อมูลที่รั่วไหลไปยังมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะระบบด้วยเทคโนโลยี หรือความโลภของเจ้าหน้าที่ในองค์กรต่างๆขายข้อมูลของผู้ใช้บริการ