เปิดเทอมมาก็มีเกิดอุบัติเหตุรถตู้รับส่งนักเรียนชนรถยนต์ส่วนบุคคลพลิกคว่ำที่จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ทำให้นักเรียนที่โดยสารบนรถตู้ได้รับบาดเจ็บรวม 11 คน และมีนักเรียน 1 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา และล่าวสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 รถตู้รับส่งนักเรียนพลิกคว่ำที่จ.ลำปาง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  และผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย เป็นข่าวเศร้าที่เกิดขึ้นซ้ำๆ

ความไม่ปลอดภัยทางถนนของเด็กนักเรียน รวมทั้งปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถ แม้จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีข้อมูลระบุว่า ในปี 2566 มีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนถึง 30 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 274 ราย เสียชีวิต 2 ศพ

ทั้งนี้ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่  7 พฤศจิกายน 2566 กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งของนโยบายระดับชาติ กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด ให้กระทรวงศึกษามอบหมายให้โรงเรียนจัดทำระบบฐานข้อมูล รถรับส่งนักเรียน กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานเรื่องความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน และจัดทำทะเบียนข้อมูลรถรับส่งนักเรียนแต่ละคัน เช่นประวัติผู้ขับรถรับส่งนักเรียน

ทว่าข้อมูลจาก จาก สภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่าตั้งแต่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 – 17 พฤษภาคม 2567  มีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนถึง 20 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 229 คน

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ปัญหาความไม่ปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนยังเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะทุกฝ่ายยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังที่ชัดเจน ทำให้ปัญหาเกิดซ้ำซาก โดยส่วนใหญ่สาเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อ ขับรถเร็ว ใช้รถผิดประเภท ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถ เช่น กรณีล่าสุดสภาพภายนอกเป็นรถตู้โดยสาร แต่ภายในถอดเบาะเดิมออกและใส่เบาะที่นั่งแบบสองแถวเข้าไปแทนเพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยของเด็กนักเรียน

“อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับในการทำตามมติวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กและนักเรียนทุกคนให้ได้จริง เพราะไม่ควรมีเด็กต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการเดินไปทางกลับจากโรงเรียนถึงบ้านอีกแล้ว” (https://www.tcc.or.th/19052567_schoolvanaccident/)

ขณะที่ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการได้รีบขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว โดยนำมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประกาศให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งจัดทำแผนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับเด็กอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกโรงเรียนต้องมีแผนย่อยของตัวเอง และให้โรงเรียนต่าง ๆ ทำแผนร่วมกับรถรับส่งและหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้กำหนดระบบติดตามประเมินผลและเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างน้อยทุก 3 เดือนจะเห็นผลในเชิงสถิติที่ต้องลดลงร้อยละ 5 ซึ่งเป็นดัชนีชี้ว่าระบบความปลอดภัยบนท้องถนนของนักเรียนดีขึ้น (https://www.tcc.or.th/19052567_schoolvanaccident/)

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เราอยากฝากประเด็นเรื่องการรักษาวินัยจราจร การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ที่ไม่ใช่เฉพาะในเขตโรงเรียนเท่านั้น ให้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติด้วยเช่นกัน