จากข้อมูลแจ้งความออนไลน์ ผ่าน https://www.thaipoliceonline.com ตั้งแต่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 21,506 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 2,493,842,459 บาท เฉลี่ย 85,944,568 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ ประเภทคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความมากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) มูลค่าความเสียหาย 198,614,971 บาท 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 326,172,595 บาท 3.หลอกให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 106,624,305 บาท 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,151,441,270 บาท และ 5. Call center มูลค่าความเสียหาย 233,274,414 บาท 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมว่า ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ และอาชญากรรมจากการผลิตและลักลอบค้ายาเสพติด ส่วนหนึ่งมีการตั้งฐานอยู่บริเวณชายแดน และใช้ทรัพยากรของไทยทั้งไฟฟ้าและการสื่อสารในการทำความผิดและหลอกลวงคนไทย นายกฯ ขอให้หน่วยงานของรัฐ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ระงับการให้บริการข้ามพรมแดน และขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานขอความร่วมมือ กับ กสทช. และผู้ประกอบการด้านสื่อสารร่วมมือด้วย เพื่อลดปัญหายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ Call Center และปัญหาอื่น ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 

ต่อมานายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการกวาดล้างบัญชีม้า 30 เม.ย. 2567 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี และ ตร. ดำเนินการการจับกุมคดี บัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

อย่างไรก็ตาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมมือกันหาแนวทางเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวง ดีอี ร่วมกับ ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้มีการประชุมหารือร่วมกัน โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ คือ การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า และ การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย

กระนั้น เราเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมได้ในระดับหนึ่ง และเราหวังว่ารัฐบาลและผู้เกี่ยวจ้องจะให้ความสำคัญคือการปราบปรามกลุ่มอาชญากรรมทั้งในและนอกประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือต่างๆ อย่างเข้มข้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด