สถาพร ศรีสัจจัง
“บางใคร” เชื่อว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษาเป็นต้นเหตุสำคัญสุดที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางด้าน “เศรษฐกิจ-การเมือง” ที่นักคิดระดับ “ปราชญ์” ทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ของบรรดาชาติ “จักรวรรดินิยมตะวันตก” ส่วนใหญ่เชื่อ และนำไปสู่การตั้ง “ทฤษฎี” ทางสังคมต่างๆขึ้นมากมาย
“บางใคร” ที่ว่าอธิบายเชิงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะ “การศึกษา” (Education) เป็นฐานสำคัญที่สุดของการ “เรียนรู้” (Learning) ในทุกเรื่องของมนุษย์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ “การศึกษา” จะให้ “เครื่องมือทางการคิด” ที่เรียกว่า “วิธีวิทยา”(Methodology) ชุดหนึ่งในการอธิบายหรือทำความเข้าใจต่อสรรพ “สิ่ง” ทั้งหลายในจักรวาล
รวมถึง “ความเป็นภายใน” ของ “ตัวเองด้วย” !
“บางใคร” อรรถาธิบายต่ออีกว่า
…การเรียนรู้จนคล้ายสามารถอธิบายเรื่องเกี่ยวกับ “จักรวาล โลก และ สังคมมนุษย์” ที่เกิดจากความคิดของบรรดานักคิดคนสำคัญๆระดับ “ปราชญ์” ของชาวตะวันตกทั้งในอดีตและปัจจุบันที่สืบเนื่องกันมาเหล่านี้นี่เอง ที่มักกลายมาเป็น “กระบวนทัศน์” (Paradign) พื้นฐาน ของโลกตะวันตกในการแปรผลเป็นแนวปฏิบัติของมนุษย์ในการพัฒนาสังคมด้าน “วัตถุ” และ “การจัดการ” จนก้าวเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่ายุค “อุตสาหกรรม”
จนท้ายสุด สามารถ “มีอำนาจนำ” ทาง “วัตถุธรรม” เช่น สิ่งปลูกสร้าง เครื่องยนต์กลไก ที่สำคัญคืออาวุธ ยุทธปัจจัย และการทหาร) จนกลายเป็นผู้กำหนด “ชะตากรรม” และ “รสนิยม” ของมนุษยชาติในพื้นที่ส่วนอื่นๆของโลก!
ที่ จริง “กระบวนทัศน์” ที่เกิดจากการเรียนรู้ดังกล่าวของบรรดานักคิดหรือ “ปราชญ์” ชาวตะวันตกในอดีตเหล่านั้น ไม่ได้แตกต่างไปจากชาวตะวันออกเรา(รวมถึงคนสยามหรือคนไทย) เลยกล่าวคือมี “กระบวนทัศน์” หลักๆอยู่เพียง 2 สาย สายหนึ่งเรียกว่า “จิตนิยม” (Idealism) กับอีกสายคือ “วัตถุนิยม” (Matterialism)
“บางใคร” กล่าวในทำนองเป็นบทสรุปว่า ที่ชาวตะวันตก สามารถมาถึงจุดนี้ได้ ก็เพราะ หลังการต่อสู้ในเรื่อง “แนวคิด”กันมาอย่างยาวนาน “แนวคิด” หรือ “กระบวนทัศน์” แบบ “วัตถุนิยม” ก็สามารถเข้าครอบระบบพัฒนาการทางสังคมของชาวตะวันตกได้สำเร็จอย่างเป็นด้านหลัก
ฐานรากรูปธรรมสำคัญทาง “การศึกษา” ที่ก่อให้เกิด “พัฒนาการเชิงคุณภาพ” ดังกล่าวนี้ ก็คือการพัฒนาอย่างรวดเร็วในการค้นพบ “ความจริงของสิ่งธรรมชาติ” (Natural Science)โดยใช้ “วิธีวิทยา” ด้าน “ฟิสิกส์” และ “คณิตศาสตร์” (Mathematics) เป็นเครื่องมือสำคัญ
ถามว่า เมื่อ “ชนกลุ่มนำ” (Elite) ส่วนใหญ่ของสังคมตะวันตกในอดีต เลือก “สมาทาน” (คือสวามิภักดิ์รับเอา) ระบบคุณค่าแบบ “วัตถุนิยม” (Matterialism) มาเป็น “ความคิดหลัก” ชี้นำในการพัฒนาสังคมของพวกเขา และสามารถ “กำหนดระบบคิด” ให้เกิด “ตรรกะ” ต่อการพิสูจน์ทราบถึง “คุณค่า” ของสิ่งต่างๆให้กับประชามหาชน(ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ระบบการศึกษา”) จนกลายเป็น “วัฒนธรรม” (Culture) ด้านหลัก ดังที่เห็นปรากฏเชิงประจักษ์อยู่ในกลุ่มชาวตะวันตกยุคปัจจุบันแล้วนั้น กระบวนทัศน์ที่เรียกว่า “จิตนิยม” เล่าหายสาบสูญไปเลยหรือ?
ตอบได้แบบทันทีเลยว่า “ไม่หายไปไหน” เพียงแต่…มันดำรงอยู่ในฐานะ (เชิงคุณภาพ) เป็นด้านรอง !
เพราะภาพที่เราเห็นในวันนี้ โลกตะวันตกยังมีสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทาง “การผลิต” เชิง “วัฒนธรรม” ที่มุ่งแสวงหา “คุณค่าจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์” (Spiritual Value of Human being.) ดำรงอยู่โดยตลอด ทั้งยังมีพัฒนาการที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นในบางด้านกับพัฒนาการของ “ระบบเศรษฐกิจ-การเมือง” ของพวกเขาอีกด้วย
ปรากฏการณ์ดังที่ว่านั้น อยู่ใน “รูปแบบ” ของสิ่งเรียกในโลกปัจจุบันว่าระบบหรือสิ่งที่ก่อให้เกิด “คุณธรรม-จริยธรรม” (ซึ่งหมายถึง “ความดี” ทางด้านจิตใจหรือ “ความรู้สึกแบบมนุษย์” เช่น ศาสนา หรือคติความเชื่อ และ ประเพณีพิธีกรรม ต่างๆ เป็นต้น) อีกอย่าง ก็คือ “ศิลปะ” หรือ “Arts” ซึ่งก็คือสิ่งที่มนุษย์ยุคปัจจุบันเรียกว่า “ความงาม” หรือ “สุนทรียะ” ที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบของ “ผลิตภาพทางศิลปะ” 3 สาขาสำคัญ คือ “ศิลปะการแสดง” (Performances) ทัศนศิลป์ (Visual Arts) และ “วรรณศิลป์” (Literature) นั่นเอง
ที่สำคัญก็คือมีบางใครอีกนั่นแหละ ระบุว่าในปัจจุบัน โลกตะวันตกได้ผนวกรวมความเป็นคุณค่าทาง “จิตวิญญาณ” ทั้ง 2 ด้านดังกล่าว ให้กลายเป็นส่วน (เล็กๆ) หนึ่งของคติแบบ “วัตถุนิยม” ไปเรียบร้อยแล้ว!
ส่วนรายละเอียดที่ว่าพวกเขาใช้เครื่องมืออะไรในการผนวกรวม หรือผนวกรวมอย่างไรนั้น คงเป็นอีกประเด็น ที่น่าจะต้องอภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะต่างหากกระมัง?
แล้วชาวตะวันออกแบบเราๆละ?
ก็เห็นว่ามนุษย์ในโลกมีการ “พัฒนา” ผ่าน “ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์” (Historical period) มาเหมือนๆกันนี่แล้วฝ่ายเรามีพัฒนาการเป็นอย่างไรกันบ้างเล่า?
บางใครที่เป็น “ผู้รู้” ในเรื่องพวกนี้บอกว่า ถ้าจะพูดถึงโลกตะวันออกเรา พัฒนาการทางความคิดเพื่อการพัฒนาสังคมมนุษย์ก็มีมาโดยตลอดเช่นกันนั่นแหละ เผลอๆเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับ “แหล่งอารยธรรม” แล้ว ตะวันออกเราน่าจะพัฒนามาก่อน และ มี “ราก” ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เก่าแก่และยาวนานกว่าโลกตะวันตกเสียด้วยซ้ำไป!
นักคิด นักปราชญ์ ศาสดา ที่ยิ่งใหญ่ที่สำคัญ ก็มีปรากฏเป็นจำนวนมาก หลายท่านกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดด้านจริยธรรมต่อชาวตะวันตกอย่างสำคัญอีกต่างหาก!
พระเยซูแห่งนาซาเรทคนนั้นนั่นไง!
ก็อย่างที่รู้ๆกันนั่นแหละว่าตามแถบลุ่มน้ำสำคัญๆของตะวันออกนั้น มักเป็นแหล่งเกิดอารยธรรมและนักปราชญ์ นักการศาสนาที่สำคัญๆเป็นจำนวนมาก เช่น ลุ่มน้ำคงคาของอินเดีย ลุ่มน้ำฮวงโหหรือแยงซีเกียง ของจีน ลุ่มน้ำเมโสโปเตเมียของอิรัก-อิหร่าน และพื้นที่แถบคะวันออกกลางทั้งหมด รวมไปถึงส่วนเหนือสุดของทวีปเอเซียอย่างดินแดนบางส่วนของรัสเซียอีกต่างหาก
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ศาสนา” สำคัญๆในยุคปัจจุบัน ก็ล้วนพบว่ามีจุดกำเนิดจากปราชญ์ศาสดาชาวตะวันออกแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนาฮินดู (พราหมณ์) อิสลาม คริสต์ ซิกข์ ขงจื้อ เต๋า หรือแม้แต่ศาสนาหลักของโลกตะวันตกอย่าง “ศาสนาคริสต์” ก็มีแหล่งกำเนิด และ “ศาสดา” เป็นคนตะวันออก คือ พระเยซู ชาวเมืองเบ็ธเลเฮม แห่งแคว้นนาซาเร็ท ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของดินแดนปาเลสไตน์ปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มเพียงประมาณ 8 กิโลเมตรเท่านั้นเอง!
แล้วทำไมตะวันออกเราวันนี้จึงต้องตามก้นตะวันตกในแทบทุกเรื่องกันแบบต้อยๆเซื่องๆเหมือนไม่รู้เหนือรู้ใต้ เหมือนไม่เคยมี “ราก” ของตัวเองโดยเฉพาะบรรดาชนชั้น “อีลิท” หรือ “ชนชั้นสูง” ทั้งด้านการปกครอง ด้านการเศรษฐกิจ และด้านวิชาการ(แทบทุกสาขา)ทั้งหลาย?
จะให้ใครช่วยตอบคำถามนี้ดี?!!