หากจะมองว่าการส่งสัญญาณปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องดำเนินไปพันธสัญญาทางการเมืองก็จริง หากแต่ภาวะค่าครองชีพที่ถีบบตัวสูงขึ้น อย่างที่เราๆ ท่านๆ สัมผัสได้จากการใช้จ่ายในปัจจุบันที่มูลค่าของเงินที่จับจ่ายออกไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น ได้ในจำนวนที่น้อยลง หรือต้องจ่ายแพงขึ้น

จากผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในหัวข้อเรื่อง “ค่าแรงขึ้น…คุ้มมั๊ย กับ ค่าแกง?”  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลทั่งประเทศ เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ร้อยละ 44.50 รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ควรปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทันที ไม่ต้องรอวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศในปีนี้ ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ควรปรับขึ้นทั่วประเทศโดยไม่มีการทยอยปรับ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ และร้อยละ 0.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขณะที่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการค่าจ้างจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล อยละ 40.23 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 24.12 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 20.84 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 10.23 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 4.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ทีนี้น่าสนใจในหัวข้อที่ว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลจะเริ่มทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567  ผลการสำรวจกลับพบว่า  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 23.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 9.92 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

หากมองจากผลสำรวจที่ออกมา ก็น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากปฏิกิริยาหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ในวันที่1 ตุลาคม 2567 แล้ว ปรากฏว่า 76 หอการค้า 54 สมาคมการค้าเคลื่อนไหวประกาศจุดยืน คัดค้านโดยให้เหตุผลว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจธุรกิจ ต่างกัน และหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถแข่งขันประเทศ  โดยเฉพาะกรณีภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด

กระนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ในการเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้เดินไปตามพันธสัญญา แรงงานอยู่ได้ และธุรกิจอยู่ด้วยอย่างสมดุล