หากจะมีนักการเมืองที่มีหัวใจ และเข้าใจลึกซึ้งในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จักต้องมีชื่อของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่แถวหน้า ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความพยายามกร่อนเซาะทำลายสถาบัน โดยอ้างหลักการประชาธิปไตยเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ ยิ่งทำให้หวนคิดถึงพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่าท่านยังอยู่ ก็จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการให้แนวคิดและแนวทางอันเป็นแก่นแกนหลักแก่สังคมได้  

กระนั้น ในแง่ความรู้ ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทองแถม นาถจำนง ได้เขียนเอาไว้ใน “เล่าความหลัง สยามรัฐ” ตอนหนึ่งระบุว่า “งานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมากมาย ผลงานที่ยอดเยี่ยมคือข้อเขียนของอาจารย์ สุกัญญา สุดบรรทัด ท่านเขียนวิจารณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้อย่างรอบด้านครบประเด็น หัวข้อที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากคือเรื่อง “เสาหลักประชาธิปไตย” ภาพของ “เสาหลักประชาธิปไตย” คึกฤทธิ์ ได้รับการยกย่องจากบุคคลหลายฝ่ายว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” ในฐานะที่เขาได้ยันหยัดต่อสู้กับความผันผวนของเหตุการณ์บ้านเมืองมาเป็นเวลาช้านาน และได้เคยชักชวนประชาชนลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่เขาไม่ได้มองประชาธิปไตยในแง่ของสมบูรณ์พร้อม เขายอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของประชาธิปไตย เช่น ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่อาจไม่ถูกต้อง หากคนส่วนใหญ่นั้นเป็นโจร และในประชาธิปไตยอาจมีเสรีภาพน้อยกว่าอัตตาธิปไตย หรือการปกครองโดยคนคนเดียว (เช่นพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งคึกฤทธิ์ให้ความยกย่องตลอดมา)

แต่ในความไม่สมบูรณ์พร้อมดังกล่าว ก็มีความจำเป็นสำหรับชาวไทยที่จะต้องทำความรู้จักกับประชาธิปไตย เขาถือว่าระบอบเผด็จการ ลิดรอนประชาชนจากโอกาสที่จะเข้าใจประชาธิปไตย ทำให้สังคมประชาธิปไตยดำเนินไปไม่ได้ เขาจึงไม่เคยยอมรับเผด็จการ แต่การต่อสู้กับเผด็จการนั้น เขาก็มีขอบเขตจำกัดอยู่บ้าง เพราะเขาไม่ใช่นักต่อสู้ประเภทแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เขาเห็นว่า สื่อมวลชนทำหน้าที่ในการสอนประชาธิปไตยแก่ประชาชน ซึ่งอันนี้เป็นนโยบายหนึ่งของ สยามรัฐ ทีเดียว และในข้อเขียนของเขา เขาจะอธิบายเรื่องของประชาธิปไตยเมื่อมีโอกาส นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา สังคมไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เขาสอนว่า ความขัดแย้งทางความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย คนเราย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นทีแตกต่างจากผู้อื่นให้ปรากฏ ซึ่งเราก็ต้องรับฟังความเห็นของคนอื่น เคารพในเหตุผลของคนอื่นเท่ากับเหตุผลของตน แต่การแสดงเหตุผลนั้น ต้องแสดงออกโดยสุภาพ ด้วยเจตนาสุจริต ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำสามหาว อาจจะเป็นด้วยวิธีการแสดงออกดังกล่าวที่ทำให้เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งจากมหาชน 

ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บางคนก็ว่า เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง บางคนก็ว่าที่เขาต่อสู้นั้นยังไม่เพียงพอ และเขาได้หลบเลี่ยงที่จะต่อสู้ในบางกรณี เช่น กรณีลอบสังหารนักหนังสือพิมพ์ อารีย์ ลีวีระ และกรณีกบฏสันติภาพที่นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากถูกจับกุม คำอธิบายในเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก เพราะคึกฤทธิ์ก็ได้ยืนยันว่า ตัวเขาเองเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา ไม่ใช่คน “วิเศษ” อะไร หรือบางทีเราก็พยามเสกสรรให้คนเป็นในสิ่งที่เราต้องการจะให้เป็น โดยลืมนึกไปว่า อันที่จริงคนคนนั้นก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเช่นเดียวกับเรา อย่างไรก็ตาม บอกได้ว่า คึกฤทธิ์ก็ได้พยายามต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อครั้งที่รัฐบาลนายควงถูกจี้ออก คึกฤทธิ์ได้กลับมาเป็นฝ่ายค้านในสภาในรัฐบาลจอมพล ป. เขาได้เปิดข้อซักถามในสภาว่า รัฐบาลจะเคารพสิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนหรือไม่ และรัฐบาลจะเคารพสิทธิของหนังสือพิมพ์หรือไม่ อีกประการหนึ่งสิทธิเสรีภาพอันเดียวกัน แต่เป็นไปในทางด้านหนังสือพิมพ์ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงอยู่ รัฐบาลที่ข้าพเจ้าร่วมด้วยเมื่อคราวที่แล้วก็ได้เคารพสิทธินี้เป็นอันมาก และไม่พยายามแตะต้องเป็นอันขาด ข้าพเจ้าอยากจะถามท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่า สิทธิที่ข้าเจ้าพูดมานี้ คือสิทธิ์ที่จะพูดหรือสิทธิที่จะเขียนนั้น อยากทราบว่ารัฐบาลนี้จะรับรองได้หรือไม่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการรับรองสิทธินี้และสนับสนุนสิทธินี้ รัฐบาลก็จะต้องอดทนและอาจจะต้องกระทบกระเทือนหัวใจ อาจจะต้องข่มกิเลสต่างๆ เป็นต้นว่า ความโกรธ ความโมโหเป็นอันมาก...ท่านยินดีพร้อมที่จะอดทนเพื่อให้สิทธิอันนี้เกิดขึ้นโดยแท้จริงหรือไม่ นั้นเป็นคำสอนที่คึกฤทธิ์มอบให้แก่รัฐบาลสมัยที่เขาเป็นฝ่ายค้านอยู่ในสภา ซึ่งผลที่ได้รับก็คือ รัฐบาลไม่อาจทนความเจ็บปวดเช่นนั้นได้ ดังนั้น การมอบเสรีภาพให้แก่ประชาชนจึงเป็นแต่ปาก และพากันมองเห็นว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์นั้นเป็นพียง “เสียงนกเสียงกา” (ซึ่งคำพูดเช่นนี้ออกจากปากรัฐบาลจริงๆ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของบุคคลในคณะรัฐบาล ลงในหน้า 1 สยามรัฐ ในปี 2501 ก่อนจอมพล ป. จะสูญอำนาจไม่นานนัก ข้อที่น่าสังเกตคือ คึกฤทธิ์ให้ความเห็นใจฝ่ายรัฐบาลอยู่พอสมควร”

เนื่องในวาระ 20 เมษายน เวียนมาเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กองบรรณาธิการสยามรัฐ” จึงขอรำลึกถึงคุณูปการของท่านทั้งต่อสยามรัฐ และต่อแผ่นดินไทย