วันที่ 10 เมษายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ที่คาดว่าจะสรุปรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ที่สำคัญคือแหล่งที่มาของงบประมาณโครงการ
โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการคลังยืนยันว่า แหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินโครงการนั้น ไม่ได้กู้เงินจากธนาคารออมสินแน่นอน ส่วนเรื่องแหล่งเงินที่จะใช้จากงบประมาณปี 68 เพื่อดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถระบุได้
ส่วนกรณีหากมีการเดินหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลให้มีการขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 70% ต่อจีดีพีหรือไม่ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะจะยังอยู่ภายใต้กรอบเดิม ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง
อย่างไรก็ตาม เดิมมีการกำหนดรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาทไว้ดังนี้ คนไทย 50 ล้านคน มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท โครงการสิ้นสุด เม.ย. 2570
สำหรับวิธีใช้เงินดิจิทัล กำหนดให้ใช้จ่ายได้ในระดับอำเภอ ภายในเวลา 6 เดือน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ ร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนภาษีมูลค่าค้า แต่หากต้องการขึ้นเงินสด หรือกดเงินสดออกมา จะต้องเป็นร้านค้าที่ลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
ทั้งนี้ สามารถใช่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อของที่เป็นอบายมุขทั้ง เหล้า บุหรี่ บัตรกำนัล บัตรเงินสด เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี และไม่สามารถชำระหนี้ ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ หรือนำไปจ่ายค่าเทอม ค่าเรียนได้
ทั้งนี้ต้องติดตามว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ 10 เมษายนจะมีความคืบหน้าและมีความชัดเจนอย่างไร