ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปร่วมประชุมกับนักวิชาการในอาเซียน ออสเตรเลีย และอังกฤษมา ว่าด้วยเรื่องของ “นิวเคลียร์” ทั้งในมิติของนิวเคลียร์เพื่อพลังงาน ความพยายามในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Disarmament) การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-proliferation) ไปจนถึงการเกิดสงครามนิวเคลียร์ จึงได้รู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมควรแก่การรรับรู้ของคนไทย และน่านำมาเล่าสู่กันฟัง

ท่านผู้อ่านทุกท่าน น่าจะรู้จัก “นิวเคลียร์” เป็นอย่างดีใช่ไหมครับ ไม่ว่าจากภาพยนตร์ หนังสือต่างๆ หรือจากบทเรียนในตำรา ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ จะเรียกว่า “นิวเคลียร์” เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นก็ว่าได้

แน่นอนว่า หลายคนอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเก่าที่จบไปนานแล้วหรือเป็นเพียงบทหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ทว่า ในความเป็นจริง นิวเคลียร์ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาความมั่นคงหลักของโลก ต่างจากเดิมเพียงบริบท ตัวละคร และองค์ประกอบต่างๆ อ้อ อีกอย่างหนึ่งคือ การได้รับความสนใจจากวงการวิชาการและสื่อ ที่ปัจจุบันดูจะได้รับความสนใจลดน้อยลงตามกาลเวลา

หัวใจของปัญหาเรื่อง “อาวุธนิวเคลียร์” ในปัจจุบัน ยังคงเป็นเรื่องของปัญหา “ปากว่าตาขยิบ” ของบรรดาประเทศผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย ที่ทั้งพูดทั้งแสดงออกถึงการสนับสนุนการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การรณรงค์ให้ผู้อื่นลด ละ เลิก การมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ตัวเองกลับไม่ยอมทำ ก็ตูไม่ทำอะ ใครจะทำไม

ประเทศที่ไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ต่างๆ ต่างพากันรวมตัวเพื่อสร้างเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก โดยหวังว่าประเทศที่ไม่มีจะไม่มีต่อไป จะไม่มีการผลิต การสนับสนุน หรือกิจการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค เช่น ภูมิภาคอาเซียนของเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า Southeast Asia Nuclear Weapon Free Zone (SEANWFZ) ไอ้การรวมตัวเหล่านี้ก็มีความพยายามที่จะให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ของโลกเข้ามาลงนามเพื่อรับหลักการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ร่วมกัน

แต่ก็อย่างที่บอกว่า “ปากว่าตาขยิบ” นั่นแหละครับ ประเทศยักษ์ใหญ่ทางอาวุธนิวเคลียร์ต่างๆก็หลีกเลี่ยงไม่ยอมลงนามเสียทุกครั้งไป การผลักดันในการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นเรื่องของประเทศที่ “ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์” เสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ก็ไม่เห็นความเป็นรูปธรรมเท่าที่ควรจะเป็น

ปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้คนกังวลก็คงหนีไม่พ้นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยมีประเทศอื่นๆคอยแจมอยู่ตลอดไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ และรัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อสถานการณ์การเมืองในทะเลจีนใต้ยังคงคุกรุ่น จีนต้องการดึงไต้หวันกลับไปเป็นส่วนหนึ่ง ในขณะที่สหรัฐฯก็มีผลประโยชน์สำคัญกับไต้หวันโดยเฉพาะเรื่องไมโครชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตและส่งมอบให้กับเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ความกังวลในเรื่องนิวเคลียร์ก็จึงยังคงอยู่เป็นเงาตามตัว เพราะความน่ากลัวของระเบิดนิวเคลียร์ยังคงตราตรึงในใจผู้คนทั่วโลกและยังคงมองมันว่าเป็น “ไม้ตาย” ของประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้หากจำเป็นต้องรบกันแบบตูมตามจริงๆ

ล่าสุดสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ก็เพิ่งรวมตัวหุ้นส่วนด้านความมั่นคงสามฝ่ายที่เรียกว่า AUKUS (Australia UK US) เพื่อให้ความสำคัญกับ Indo-pacific กินพื้นที่ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียไปยันแปซิฟิก และเจ้าความร่วมมือนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ จนทำให้พี่จีนออกมาโวยวายว่า “เฮ้ย นี่พวกลื้อจะทำให้โลกกลับไปเป็นสงครามเย็นหรือยังไง เล่นให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ ยังงี้ก็เท่ากับมาล้อมอั้วนี่หว่า” กลายเป็นดราม่าระดับโลก เดือดร้อนมาถึงนักวิชาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่จีนก็บอกว่า อั้วพร้อมลงนามในเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของอาเซียน (SEANWFZ) นะ แต่ก็ดูแล้วเป็นเพราะจีนได้ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้ตัวเองดูดีพร้อมตบหน้าสหรัฐฯไปพร้อมๆกัน ว่า “นี่! ผู้นำยุคใหม่มันต้องอย่างอั้วนี่” แต่ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆถึงความจริงใจโดยเฉพาะในจังหวะที่จำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วจะ “ลดละเลิก” จริงๆอย่างท่าทีหรือปล่าว

ในฟากรัสเซียเองก็ยังคงดุดันไม่เกรงใจใครเหมือนเดิม จนนักวิชาการต่างๆกลัวว่า หากจำเป็นรัสเซียก็พร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยมิแคร์สื่อ นอกจากนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ยังได้มีข่าวว่ามีแหล่งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการทำระเบิดเช่น ยูเรเนียม พลูโตเนียม ที่ก็เพิ่งมีข่าวล่าสุดไปว่ามียากูซ่าญี่ปุ่นกับคนไทยถูกจับเพราะต้องการนำเอาแร่ธาตุเหล่านี้จากชนกลุ่มน้อยในพม่าออกมาขายในตลาดมืด

องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เว็บมืด ต่างก็เป็นองค์ประกอบใหม่ที่ยุคสงครามเย็นไม่มี ที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่แทบทุกประเทศยังชุลมุนวุ่นวายกับการหาทางรับมืออยู่

ด้วยสภาพการณ์เหล่านี้ คงปฏิเสธได้ยาก ว่าโลกเรา “ร้อนขึ้น” ด้วยอุณหภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศประกอบกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่นำทั้งโอกาสและปัญหามาพร้อมๆกัน

ความน่ากลัวของสถานการณ์เหล่านี้สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา คือ การอาจตกเป็น “หญ้าแพรก” ที่โดนลูกหลงไปด้วย เมื่อ “วัวชนกัน” เพราะภูมิภาคของเรานั้นอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ของการที่บรรดายักษ์ใหญ่นิวเคลียร์ทั้งหลายจะทะเลาะกัน หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอานุภาพร้ายแรงและกินพื้นที่ ยังไม่ต้องนับถึงกัมมันตภาพรังสีที่จะกระจายไปทั่ว พวกเราคงหนีไม่พ้นผลกระทบอย่างมหาศาลเป็นแน่

งานนี้อาจต้องอาศัย “คนรุ่นใหม่” โดยการให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันจาก “ล่างขึ้นบน” และหวังว่าความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า และประเด็นอื่นๆ จะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่มีพลังมากพอให้ยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเลือกที่จะอยู่ภายใต้ความอึมครึมของ “สงครามเย็นครั้งใหม่” แทนที่จะกลายไปเป็น “สงครามร้อน” อีกครั้ง

สุดท้าย เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องจับตามอง อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามบริบท แต่ยังคงความเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” อยู่นั่นเอง

เอวัง