ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันไปเรื่องต้นตอหลักๆของฝุ่น และเหตุผลว่าทำไมมักเห็นเป็นหมอกเทาๆช่วงปลายฤดูหนาวแบบนี้ สัปดาห์นี้เรามาคุยกันเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหาครับ

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น ต้องแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาระยะยาว และการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า เรามาว่ากันเรื่องแก้ปัญหาระยะยาวกันก่อน

อันดับแรก เราต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นเกิดจาก “วิถีชิวิต” ของเราทุกคนและเกิดจากการสะสมของปัญหามานานหลายสิบปี จนกระทั่งแสดงให้เราเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น การแก้ปัญหาให้จบแบบเบ็ดเสร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เวลาและความร่วมมือของคนทุกคนในสังคม การลงมือแก้ปัญหาด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่เพียงพอที่จะกำจัดปัญหานี้ออกไปได้  ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ควรโฟกัสไปที่ต้นตอของปัญหา อันได้แก่ ภาคคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และเรื่องฝุ่นควันข้ามแดน

ในภาคคมนาคม หัวใจของปัญหาอยู่ที่การสันดาปของรถยนต์ทั้งดีเซลและเบนซิน ดังนั้นในมิติของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตัวเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันเห็นจะหนีไม่พ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่จะตัดปัญหาเรื่องของการสันดาปของไปอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้านับได้ว่ามีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มเห็นคนไทยปรับตัวไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี อย่างไรก็ดี หัวใจของการแก้ปัญหานี้ อยู่ที่ “จำนวน” หรือ “สัดส่วน” ของรถยนต์ไฟฟ้า หากสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ามีมาก ปริมาณฝุ่นจากภาคคมนาคมก็เชื่อได้ว่าจะลดลง

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ว่าจะมีการปรับตัวของคนไทยที่เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ก็ถือว่าค่อนข้างจำกัดอยู่กลุ่มคนที่มีฐานะ รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ง่ายของคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะผู้คนที่ยังต้องต่อสู้เพื่อปากท้องของตนอยู่ โจทย์จึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยไม่กระทบปากท้อง

คนไทยไม่ได้ไม่อยากใช้รถไฟฟ้า กลับกัน ด้วยกระแสของรถไฟฟ้า หลายต่อหลายคนอยากได้ แต่ไม่มีปัญญาเปลี่ยนนี่แหละครับเรื่องใหญ่ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วขึ้น การออกมาตรการช่วยเหลือที่เปรียบเสมือน “ตัวเร่ง” ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็น ถ้ารัฐสามารถช่วยเหลือให้การเปลี่ยนแปลง “ง่าย” และยิ่งหากสามารถทำให้เกิด “ข้อดี” เพิ่มเติมของการเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

หลายประเทศใช้การช่วยเหลือจากรัฐ เช่น รับซื้อรถยนต์เก่า รัฐช่วยออกเงินสำหรับรถใหม่ ใช้เรื่องของภาษีเข้าช่วย เป็นต้น จะออกมาตรการกดดันก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จำเป็นต้องมีทางออกให้ประชาชน หลายประเทศใช้วิธีการกำหนดว่า ภายใน 5 ปี หากใครจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รัฐช่วยเหลือเงินจำนวนหนึ่ง รับซื้อรถเก่าได้ราคาดี แถมยกเว้นภาษีให้อีก แต่หากเกิน 5 ปีนี้แล้ว หมดโปร ก็ต้องจ่ายเต็มกันนะจ้ะ นอกจากนั้น หากเกิน 5 ปีนี้แล้ว ภาษีสำหรับรถยนต์สันดาปจะพุ่งทะยานแบบโหดร้าย รวมไปถึงค่าจอดรถ และอื่นๆ เรียกว่า บอกกันให้เห็นล่วงหน้าว่าอนาคตจะเกิดอะไร ให้เห็นชัดๆกันไปเลยว่า ใช้รถยนต์สันดาป “แพงกว่า” และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า “ถูกกว่า” เป็นการบีบกลายๆให้คนเปลี่ยน แต่ไม่ได้บีบแล้วผลักภาระไปที่ประชาชนอย่างเดียว แต่มีทางออกให้ในแบบที่เรียกว่า “โปรดี โปรเลิศ” ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้คนตัดสินใจได้ไม่ยาก เรียกว่า สร้างสมดุลระหว่าง “มาตรการกดดัน” และ “ทางออก” ให้ชัดเจน

ในหลายๆประเทศที่ทำได้สำเร็จ กลายเป็นว่า รถยนต์สันดาป กลายเป็นรถของคนมีเงิน เพราะมันแพงมากในการที่จะครอบครอง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าดูแล ภาษี ค่าจอดรถ และอื่นๆอีกมากมาย ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นของคนทั่วๆไป ต้นทุนต่ำ ดูแลง่าย ค่าจอดรถถูกกว่า หรืออะไรก็ว่าไป จำนวนของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงมีสัดส่วนที่มากกว่า และจะช่วยลดฝุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ตอนนี้บ้านเรายังกลับหัวกลับหางอยู่ งานนี้ต้องวางกลยุทธ์กันให้ดี ว่าจะพลิกสถานการณ์นี้อย่างไร

การศึกษาสายช่างก็มีส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมนี้ เราจำเป็นต้องเร่งผลิตช่างที่จะออกมาดูแลรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อการดูแลรักษารถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม การตัดสินใจเปลี่ยนก็จะยิ่งง่ายขึ้น และจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้การมีรถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างแท้จริง

ในเรื่องของสถานีชาร์จ ที่หลายฝ่ายกังวล แท้จริงแล้วรถยนต์ไฟฟ้าถูกออกแบบมาให้ชาร์จภายในบ้าน (Home charging) ดังนั้น การสร้างสถานีชาร์จโดยใช้คอนเซปต์ของ “ปั๊มน้ำมัน” นั้น จึงไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง การสร้างสถานีชาร์จควรสร้างในเส้นทางการเดินทางระยะไกล เช่นการเดินทางไปต่างจังหวัด เป็นต้น รัฐสามารถช่วยได้โดยการพูดคุยกับสถานที่ราชการ เอกชน รวมไปจนถึงบ้านจัดสรร และคอนโดฯต่างๆ ให้มีการสร้างที่ชาร์จเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ใช้ โดยอาจทำในลักษณะของการให้ลดหย่อนภาษีเป็นรางวัลจูงใจ หรือใช้มาตรการจูงใจอื่นใดก็แล้วแต่จะสะดวก ขออย่างเดียวอย่าไปบังคับและผลักภาระไปที่ประชาชน รัฐต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง 

หลายคนมองว่า ควรปล่อยให้ตลาดจัดการตัวเอง รอจนจุดที่ Demand Supply และราคาทำหน้าที่ของมัน ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ไม่ผิด หากแต่คำถามสำคัญคือ รอได้หรือไม่? เพราะการรอตลาดทำหน้าที่ของมัน ย่อมเจอกับอุปสรรคต่างๆที่ขัดขวางอยู่ตลอด ทั้งตัวตลาดเอง หรือแม้แต่อุปสรรคที่เกิดจากผู้เล่นในตลาด หากต้องการความรวดเร็ว รัฐก็อาจจำเป็นต้องมีบทบาทในการแทรกแซงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่ผมไม่ได้หมายความว่าให้รัฐแทรกแซงไปตลอดนะครับ แทรกแซงเพื่อกำหนดทิศทางให้ได้ พอแล้ว จากนั้นก็ให้ตลาดทำหน้าที่ของมันต่อไป เพราะถ้ารัฐจะพยายามอุ้มไว้ หรือจะกำหนดทิศทางตลอดไป ก็จะพังพินาศเช่นกัน เพราะตลาดยังต้องการเสรีภาพในการเติบโตครับ

การพัฒนาเรื่องขนส่งสาธารณะ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำ โดยต้องปักหมุดไว้ว่า การพัฒนาขนส่งสาธารณะทำไปเพื่อให้ทุกคนรู้สึกอยากใช้ มันง่าย มันสะดวก มันถูก ทุกวันนี้การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะยังคงลำบาก แม้จะมีรถไฟฟ้ามากขึ้น แต่พื้นที่ให้บริการก็ยังไม่ครอบคลุม ยกตัวอย่างผู้เขียนเองบ้านอยู่ชานเมือง แต่รถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดนั่งแท็กซี่ไปประมาณ 100 บาท จะนั่งแทกซี่ไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ดูจะแพงไปหน่อย ถ้าจะนั่งรถเมล์ไปทำงานก็น่าจะมีขั้นต่ำ 3 ต่อ สภาพแบบนี้ ใครหาเงินได้หน่อยก็ซื้อรถกันหมดล่ะครับ แต่ถ้าเรื่องขนส่งสาธารณะมันเป็นมหากาพย์เกินไป ก็แนะนำว่าไปมุ่งหน้าผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าครับ อย่างน้อย คนที่เขาเก็บเงินได้ จะซื้อรถสักคัน จะได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากัน