การปะทะกันด้วยคำพูดและกำลัง ระหว่าง ม็อบชนม็อบ เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ปลุกเร้าอารมณ์ผู้คนที่มีความเห็น ต่างกัน ต้องเผชิญหน้ากันตามที่สาธารณะเท่านั้น หากแต่ยังอาจกระทบต่อ แผนการเล่น ของ พรรคก้าวไกล เองที่มีความพยายามผลักดัน ความผิด ใน มาตรา 112 เข้าไว้ในกฎหมายนิรโทษกรรม ให้มีอันต้อง ล่ม ตามมา!
ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายวงสนทนา ทั้งสภากาแฟ ไปจนโลกโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมจาบจ้วง ดูหมิ่นสถาบัน ของ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สมาชิกกลุ่มทะลุวัง ที่บีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ฯ จากนั้นถัดมา ตะวันนำทีมไปจัดกิจกรรม ทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ ที่สกายวอล์ก บีทีเอส สยามสแควร์ จนมีการปะทะกับ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส.กลุ่มคนรักที่สถาบัน เนื่องจากฝ่ายศปปส. ไม่พอใจ การกระทำที่จาบจ้วง ก้าวล่วงของกลุ่มทะลุวัง
จากการปะทะกันทำให้คนทั้งสองฝ่าย ได้รับบาดเจ็บ มากบ้าง น้อยบ้างไปตามๆกัน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามตามมา ว่าในฐานะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยเอาตำแหน่งสส.ไปประกันตัวให้กับตะวัน ก่อนหน้านี้ จะทำอย่างไร
ต่อมา ทั้งพรรคก้าวไกลและพิธา ออกมาระบุว่า เขาเองไม่ได้เป็นนายประกันให้ตะวัน แล้ว และขอให้แยกแยะระหว่างเรื่องการประกันตัว กับการไปป่วนขบวนเสด็จ ซึ่งเขาเองไม่ได้สนับสนุน แต่ประเด็นที่ ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ตามมาและถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการ ชิงจังหวะ ฉวยเหตุในครั้งนี้เพื่อนำมาสนับสนุนแนวทางของพรรคก้าวไกลที่ต้องการให้มีการ นิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิดในมาตรา 112 เข้าไปด้วย
โดยชัยธวัช ระบุว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เป็นประตูอีกบานที่จะคลี่คลายความเครียดและความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน หาจุดร่วมให้ได้โดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย หวังว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหากระบวนการในการนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ดี แม้พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้จะเป็นฝ่ายค้านในปีกเดียวกับพรรคก้าวไกล แต่อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์เองแสดงจุดยืนเรื่องไม่แตะมาตรา 112 มาโดยตลอด และล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พูดชัดว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คณะกรรมาธิการฯกำลังพิจารณา ดังนั้นขอให้ทำด้วยความรอบคอบ หากจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต ควรจะครอบคลุมความผิดในลักษณะใดบ้าง ซึ่ง การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชั่น และ ม.112 รวมทั้งคดีอาญาร้ายแรง
"เมื่อเกิดกรณีการป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำการไม่สมควรนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งขอเสนอให้กรรมาธิการของสภาฯรับไปพิจารณาด้วย" (11 ก.พ.67)
การเคลื่อนไหว ของกลุ่มทะลุวัง ที่พุ่งเป้าไปที่สถาบัน อันเป็นที่เคารพ รักของคนไทยเช่นนี้ บรรดาแกนนำ ย่อมมองเห็น ปลายทางของตัวเองต้องไปจบที่กระบวนการยุติธรรมโดยที่โอกาสจะได้รับการนิรโทษกรรม ด้วยการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกล ก็ดูจะริบหรี่ลงทุกที !