เสือตัวที่ 6
หากนับย้อนหลังจากเดือน มกราคม 2567 ไป 20 ปี จะเป็นค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 ขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานได้รวมพลังปฏิบัติการเงียบ บุกเข้าปล้นปืนของทหารไทยไป 413 กระบอก จากคลังแสงของกองพันทหารพัฒนา ค่ายปิเหล็ง ในจังหวัดนราธิวาส นับเป็นปฏิบัติการลับสุดยอดของขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ที่นับเหตุการณ์อุกอาจเกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และนับเป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นสัญญาณการต่อสู้กับรัฐอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเป้าหมายสุดท้ายที่ทราบกันดีว่าคือการแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐเพื่อปกครองกันเองตามวิถีที่แกนนำต้องการ โดยมีผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น ได้พลิกฟื้นสถานการณ์การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ทำท่าว่าจะสงบราบคาบลง ให้กลับฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาในทันที พร้อมทั้งถูกยกระดับการต่อสู้อย่างรุนแรงเรื่อยมาจนขยายวงความขัดแย้งให้กว้างขวางและบานปลายออกไปเรื่อยๆ จวบจนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การต่อสู้ได้พัฒนาการมาเป็นการลดระดับความถี่ในการก่อเหตุอย่างน่าพอใจ
หากแต่มันได้ถูกยกระดับความรุนแรงของเหตุร้ายในแต่ละครั้งมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งได้แปรเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่การต่อสู้ในระดับนโยบายทางการเมือง ควบคู่กับการต่อสู้ทางความคิดในระดับพื้นที่ท้องถิ่นสู่ระดับชาติและนานาชาติมากขึ้นอย่างเป็นระบบ วันนั้น ได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมาจนมีสถานะเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของรัฐไทยมาตลอด 20 ปี จนเรียกได้ว่าเป็นสงครามยืดเยื้ออย่างเห็นได้ชัดจวบจนปัจจุบัน และแม้ว่าจะมีแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งตั้งใจและโดยเฉพาะที่ไม่ได้ตั้งใจ ให้การโจมตีการทุ่มเทของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ตลอด 20 ปีว่าไม่สามารถยุติปัญหาในพื้นที่ได้ ด้วยการนำงบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้มาเป็นประเด็นหลักในการโจมตี
แต่หากพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติแล้วจะพบว่า การใช้เงินงบประมาณของรัฐจำนวนมากขนาดนั้น น่าจะคุ้มค่ากับการได้มาซึ่งสภาพการณ์การต่อสู้ในพื้นที่ที่รัฐสามารถบีบบังคับให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ มีโอกาสในการก่อเหตุร้ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐเหล่านี้จำต้องแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ไปเป็นการต่อสู้ระดับนโยบายทางการเมืองระดับชาติ พร้อมกับการต่อสู้ทางความคิดสร้างกระแสการยอมรับในความมีตัวตนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยเฉพาะกลุ่ม BRN รวมทั้งการยอมรับในวิถีการปกครองในแบบฉบับที่แกนนำขบวนการแห่งนี้กำลังนำเสนอให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่าการทุ่มเทความพยายามของรัฐในหลากหลายมิติรวมทั้งด้านเงินงบประมาณของรัฐที่ผ่านมานั้น ล้วนลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์ให้ดำรงคงอยู่ได้อย่างมั่นคงอันเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้
ทรัพยากรของรัฐที่ทุ่มเทในการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาสงครามในสมรภูมิปลายด้ามขวานตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 จนถึงมกราคม 2567 จึงเป็นผลสำเร็จที่น่าพอใจ ด้วยชีวิตผู้คนที่บริสุทธิ์หลายพันชีวิตที่สูญเสียและพิการจากน้ำมือของคนในขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐนั้น ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ การดำเนินการของรัฐที่ผ่านมาตลอด 20 ปี ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงจากการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างโหดร้ายของคนในขบวนการร้ายแห่งนี้ลดระดับความถี่ลงจนอยู่ในระดับที่รัฐควบคุมได้ หากจะมีเหตุร้ายในพื้นที่บ้างก็ไม่เป็นผลต่อกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐและไม่กระทบต่อบรรยากาศของการกลับมาสู่สันติสุขที่คนส่วนใหญ่ต้องการนั้น จึงเห็นได้ว่าการต่อสู้ในสงครามครั้งนี้นั้น รัฐสามารถบีบบังคับและโน้มนำให้ขบวนการร้ายแห่งนี้ ลดการใช้อาวุธและหันมาใช้เส้นทางการต่อสู้ทางความคิดตามที่รัฐต้องการได้อย่างน่าพอใจ
ตลอดเส้นทางการต่อสู้ 20 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ได้เลวร้ายมากมายอย่างที่แนวร่วมขบวนการกำลังกล่าวร้ายรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างสิ้นเชิง ด้วย 20 ปี ของการต่อสู้บนเส้นทางเหล่านี้ได้ถูกค้ำยันด้วยชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดจนประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายจนพัฒนาการมาถึงสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองและการต่อสู้ทางความคิดอย่างมุ่งมั่นทุกวันนี้ หากแต่รัฐเองก็ต้องตระหนักรู้กลยุทธ์ใหม่ที่แกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้กำลังปรับเปลี่ยน แกนนำขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐต่างรู้ดีว่าวันนี้พวกเขาไม่สามารถใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธที่รุนแรงอย่างกว้างขวางไปจนนำไปสู่การสร้างกระแสความสนใจจากนานาชาติและเข้ามาช่วยเหลือให้พื้นที่แห่งนี้แยกตัวเป็นอิสระจากรัฐไทยอย่างตัวแบบในบางประเทศ แกนนำขบวนการจึงเตรียมความพร้อมในกลยุทธ์ใหม่จนกล้าแข็งและกำลังขับเคลื่อนการต่อสู้บนเส้นทางใหม่อย่างเข้มข้น ด้วยการต่อสู้ในเชิงนโยบายระดับชาติผ่านนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมทางตรง(ตั้งใจ) และแนวร่วมทางอ้อม(ไม่ได้ตั้งใจ) ที่มีหลากหลายทั้งนักการเมืองระดับท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับชาติ รวมทั้งนักวิชาการบางคนที่หลงกลไปเข้าทางการสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองและการต่อสู้ทางความคิด
สมรภูมิการสู้รบแห่งนี้ จึงไม่ง่ายและไม่ธรรมดาอย่างที่คิด ขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐโดยมีกลุ่ม BRN เป็นตัวแสดงหลัก มีความต้องการให้กลุ่มของขบวนการเป็นที่ยอมรับและมีที่ยืนเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐอย่างเป็นทางการ ในขณะที่รัฐเองก็ต้องการให้การต่อสู้ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งภายในชาติที่ไม่มีคู่ขัดแย้งในระดับสถานะเดียวกับรัฐ การต่อสู้ที่ฝ่ายขบวนการมีแนวร่วมมากมายที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือในการดำเนินการทุกอย่างของรัฐ การต่อสู้ทางความคิดที่ยากยิ่งกว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธจึงเป็นสงครามยืดยื้อยุคใหม่ที่จะต้องดูว่าใครจะมีสายป่านยาวกว่ากัน