ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

 

หลังจากเปิดศักราชใหม่มาสดๆร้อนๆ World Economic Forum ได้จัดทำรายงานที่ชื่อว่า The Global Risks Report 2024 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,500 คนทั่วโลก ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศ จนได้ข้อมูลเชิงลึกว่า อะไรคือความเสี่ยงและปัญหาความมั่นคงของโลกในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า โดยได้นำเสนอการคาดการณ์ปัญหาความมั่นคงของโลก โดยแบ่งออกเป็นปัญหาที่คาดว่าจะมีผลกระทบสูงในระยะสั้น (2 ปีข้างหน้า) และปัญหาที่คาดว่าจะมีผลกระทบสูงในระยะยาว (10 ปีข้างหน้า)

สำหรับสัปดาห์นี้จะหยิบเอา 5 ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดภายใน 2 ปีข้างหน้า มาเล่าให้ได้อ่านกัน ได้แก่

1) ข้อมูลที่ผิดพลาดและการจงใจทำให้ข้อมูลผิดพลาด (Misinformation and Disinformation) หรือบรรดา Fake news และ Fake information ต่างๆ สืบเนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆสามารถถูกปรับแต่งได้ง่ายมากขึ้นและมีความแนบเนียนมากยิ่งขึ้น คอนเทนต์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความยากที่จะตัดสินว่าจริงแท้แน่นอนขนาดไหน ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลต่างๆในชีวิตประจำวันลดลง

การปรับแต่งและบิดเบือนข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่ได้มาแค่ในรูปแบบของเนื้อหาที่ถูกบิดเบือนจากความเป็นจริง แต่อาจมาในรูปแบบของการปลอมแปลงกระทั่งคลิปวิดีโอที่มีคนพูดเสมือนว่าเป็นเรื่องจริง จนอาจส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆที่สำคัญ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตข้างหน้าการปรับแต่งบิดเบือนข้อมูลที่มีความแนบเนียนสูงจะถูกนำมาใช้ในทางการเมืองและการเลือกตั้งของหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้ง อาทิ การทำลายกันทางการเมือง และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการรับข้อมูลข่าวสารของคนทั่วโลก และอาจจำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้เช่นกัน

2) สถานการณ์ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เลวร้าย (Extreme weather events) โลกถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายสืบเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติคาดว่าจะเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม น้ำแล้ง ความหนาวเย็น และอุณหภูมิที่สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังการผลิตอาหารและน้ำ กลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและทำลายระบบนิเวศ นอกจากนี้ภัยธรรมชาติที่รุนแรงจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับคนทั่วโลก และอาจกลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข โรคระบาด และอาจนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ทั้งถูกและผิดกฎหมาย แน่นอนว่า หากรัฐบาลของประเทศใดไม่สามรถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจเกิดเป็นความไม่พอใจของประชาชนและนำไปสู่ความสั่นคลอนและความขัดแย้งทางการเมืองได้

3) ความแตกแยกในสังคม (Societal Polarization) ความแตกแยกทางสังคมกับการปรับแต่งและบิดเบือนข้อมูล เป็นสองสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันมากที่สุด โดยสองสิ่งนี้จะมีบทบาทในการส่งเสริมปัญหาของกันและกัน กล่าวคือ ความแตกแยกในสังคมจะทำให้เกิดการปรับแต่งบิดเบือนข้อมูลที่สูงขึ้น ในขณะที่การปรับแต่งบิดเบือนข้อมูลก็จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้นเช่นกัน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ในมิติทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ เช่นการมองภาพความเป็นจริง หรือแม้แต่สุขภาพจิตของคนในสังคม

เมื่อความรู้สึกและอุดมการณ์มีพลังเหนือความจริง ภาพที่ผู้คนเห็นจากการบิดเบือนและการปรับแต่งข้อมูลจะมีพลังเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการแสดงออกของผู้คนต่อปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านความยุติธรรม ด้านการศึกษา หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม และจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ หรืออาจนำไปสู่การประท้วง ความเกลียดชัง ความรุนแรง หรือแม้แต่การก่อการร้าย

4) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Insecurity) ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์จะมีมากขึ้นเปรียบเสมือนเงาตามตัวของการพัฒนาทางเทคโนโลยี เครื่องมือและความสามารถใหม่ๆจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วย "เปิดตลาดใหม่" ให้กับเหล่าอาชญากร เนื่องจากเป็นหนทางหนึ่งที่มี "ความเสี่ยงและต้นทุนต่ำ" ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการเงินก็ล้วนเป็นหนทางที่คุ้มค่ากับการลงทุน

นอกจากนี้การพัฒนาทาง AI ก็มีผลเสียด้านลบเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้กับการก่ออาชญากรรมหรือการโจมตีทางไซเบอร์ ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีด้วยเหยื่อล่อให้คลิก (Phishing Attack) (โดยมากมาในรูปแบบของลิงก์ปลอมที่มีความเหมือนจริงเพื่อหลอกล่อให้เหยื่อกดเข้าไป จากนั้นจึงปล่อยไวรัสเพื่อเจาะระบบ) การใช้ AI เข้าช่วยก็สามารถทำให้ภาษาที่ใช้ในลิงก์ปลอมมีความสมจริงมากขึ้นจนยากที่จะแยกออก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมอื่นๆอีกมาก เช่น การค้ามนุษย์ และยาเสพติด เป็นต้น

5) สงครามระหว่างประเทศ (Interstate armed conflict) สงครามระหว่างประเทศดูแล้วจะยังคงอยู่และอาจมีการยกระดับความร้อนแรงในสามจุดสำคัญของโลก ได้แก่ ยูเครน อิสราเอล และไต้หวัน โดยมีเหตุผลเบื้องหลังเกี่ยวพันกับภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ตลอดจนด้านความมั่นคงอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งอื่นๆที่รอการปะทุ และอาจปะทุขึ้นสืบเนื่องจากความขัดแย้งในสามจุดสำคัญของโลก อาทิ ลิเบีย ซีเรีย แคชเมีย และคาบสมุทรเกาหลีเป็นต้น

บทบาทของมหาอำนาจยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันกันทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงระดับโลก ระดับภูมิภาค ตลอดจนระบบการเศรษฐกิจ การเงิน และการค้า นอกจากปัจจัยทางด้านการเมืองแล้ว เศรษฐกิจ การค้า หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมก็อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ได้ การสู้รบด้วยตัวแทนในมุมต่างๆทั่วโลก โดยมีประเทศที่ร่ำรวยอยู่เบื้องหลังอาจเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง แต่อาจกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลก

นี่คือ 5 ปัญหาหลักๆของโลกที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสองปีต่อจากนี้ จะเกิดไม่เกิดก็ยังไม่รู้ได้ แต่ก็เป็นการคาดการณ์ของเหล่าผู้เชี่ยวชาญกว่าพันคนทั่วโลก และแน่นอนว่าเป็นโจทย์หินของรัฐบาลทุกๆประเทศในการเตรียมการรับมือ ใครไหวตัวทัน ก็เตรียมการได้ก่อน ใครช้า ก็อาจตกเป็นเหยื่อของปัญหาระดับโลกเหล่านี้

สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้อ่านกันต่อ ถึงปัญหาระดับโลกที่คาดการณ์ไว้สำหรับ 10 ปีต่อจากนี้ วันนี้พื้นที่หมดแล้ว ติดตามอ่านสัปดาห์หน้านะครับ

เอวัง