ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

อาจารย์ประจำสถาบันการทูตและการต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยรังสิต

เปิดศักราชปีใหม่นี้ด้วยเรื่องราวเบาๆกันหน่อยนะครับ ต้อนรับปี “มังกรทอง” กันซะหน่อย

“มังกร” เป็นสัตว์ในตำนานที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีครับ ไม่ว่าจะเป็นใครเชื่อว่าต้องรู้จักมังกรกันอย่างเป็นแน่ เพราะมังกรนั้นมีตัวตนอยู่ในหลายๆวัฒนธรรม วันนี้จะขอรวบรวมเรื่องราวของมังกรมาให้ทุกท่านได้อ่านกันเท่าที่พื้นที่จะอำนวยครับ

ท่านผู้อ่านครับ มังกร เป็นสัตว์ในตำนานหรือสัตว์ในความเชื่อที่น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมากที่สุดในหลากหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นซีกโลกตะวันออกหรือตะวันตกต่างมีมังกรด้วยกันทั้งสิ้น รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเช่นกันที่มีสัตว์ในตำนานอย่างพญานาคที่มีลักษณะและคุณลักษณะคล้ายคลึงกับมังกร ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่าเหตุใดกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลกันในอดีต (ที่ไม่มีเครื่องมือสื่อสารเหมือนในปัจจุบัน) จึงมีความเชื่อที่ละม้ายคล้ายคลึงกันได้มากขนาดนี้ หรือมีสิ่งใดที่เป็นสิ่งร่วมที่ทำให้มนุษย์ในซีกโลกต่างๆมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับสัตว์ชนิดนี้ได้เหมือนๆกัน

มังกรเป็นสัตว์ในตำนานที่อยู่ในความเชื่อของชาวจีนมาหลายพันปี โดยมีการกล่าวอ้างว่ามีความผสมผสานของสัตว์ 9 ชนิด ได้แก่ 1) เขาของมังกร คล้ายกับเขากวาง 2) ตาของมังกร คล้ายกับตากระต่าย 3) หัวของมังกร คล้ายกับหัวอูฐ 4) หูของมังกร คล้ายกับหูวัว 5) คอของมังกร คล้ายกับคองู 6) เกล็ดของมังกร คล้ายกับเกล็ดปลามังกร 7) ท้องของมังกร คล้ายกับท้องกบ 8) ฝ่าเท้าของมังกร คล้ายกับเท้าเสือ 9) กงเล็บของมังกร คล้ายกับเหยี่ยว ในขณะที่บางตำราก็บอกว่า มังกรเป็นสัตว์ที่ผสมผสานสัตว์หลายชนิดโดยมีงูเป็นองค์ประกอบหลัก คือ ลำตัวเป็นงู หัวจากหมู เขาจากกวาง หูจากวัว หนวดจากแพะ เล็บจากอินทรีย์ และเกล็ดจากปลา มังกรสามารถบินได้แม้ไม่มีปีก (นพพล จันทร์กระจ่างแจ้ง และ ศิริวรรณ เรืองศรี 2563, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)

จากลักษณะดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า มังกร อาจเกิดขึ้นจากการพบเจอสัตว์เหล่านี้ในธรรมชาติ และด้วยความที่คนสมัยก่อนอาจไม่สามารถเข้าใจและอธิบายธรรมชาติได้ จึงเกิดเป็นความเชื่อว่าต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิใดอยู่เบื้องหลังและควบคุมสิ่งต่างๆ ชื่อ “หลง” หรือ มังกรในภาษาจีน จึงอาจมาจากเสียงฟ้าร้องคำราม ที่มีเสียงทุ้ม และมีพลัง คล้ายกับเสียง “ลง” จึงกลายเป็นชื่อสัตว์ศักดิ์สิทธิในที่สุด

มังกรจึงกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิของจีนที่ต่อมาขยายอิทธิพลไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับฟ้าดิน มีความเป็นมิตรมากกว่าความน่ากลัว และกลายเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ หรือผู้มีอำนาจ ในที่สุด ดังที่จะเห็นได้จากงานศิลปะต่างๆที่มักมีมังกรเป็นลวดลายสำคัญ และสงวนมังกร 5 เล็บ ไว้สำหรับจักรพรรดิหรือผู้มีอำนาจระดับสูงเท่านั้น ในขณะที่คนทั่วไปจะมีได้แค่มังกร 3-4 เล็บ (เว็บไซต์กรมศิลปากร)

ในแง่มุมของทางตะวันตก ก็มีมังกรเช่นกัน หากแต่รูปร่างแตกต่างกันออกไป โดยมังกรในซีกโลกตะวันตกจะมีขา มีปีกคล้ายค้างคาว หางยาวปลายหางเป็นหอก สามารถบินได้เช่นเดียวกับของจีน และสามารถพ่นไฟได้ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่างมังกรเวอร์ชั่นตะวันออกกับตะวันตก คือทางด้านตะวันตกมองมังกรในลักษณะน่ากลัวและเป็นอันตราย เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายหรือปีศาจ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เหล่าวีรบุรุษหรือกษัตริย์จะต้องพิชิต ซึ่งหากผู้ใดสามารถสังหารมังกรได้ก็จะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำในการปกครองคนหมู่มาก นอกจากนี้ก็มีผู้วิเคราะห์เช่นกันว่า มังกรอาจมีที่มาจากการที่มนุษย์กลัวงู เห็นงูเป็นสัตว์ที่ลึกลับและชั่วร้าย จึงทำให้มังกรมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายงูอยู่ในบางมุมมอง

จากเรื่องราวพอสังเขปของมังกรจากสองซีกโลก ผู้เขียนมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ต้นตอของมังกรจะมาจากงู เนื่องจากในอดีตงูอาจเป็นสัตว์ที่น่ากลัวในสายตามนุษย์ และหากจะกล่าวถึงอำนาจและพลัง ก็คงไม่แปลกหากจะมองงูเป็นสิ่งที่มีอำนาจและมีพลัง เพราะตัวอะไรโดนงูกัดในสมัยนั้นก็คงยากที่จะรอด แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ ทั้งสองวัฒนธรรมจากสองซีกโลกต่างมีมังกรเป็น “สัญลักษณ์อ้างอิง” ของ “อำนาจ” เช่นกัน โดยฝั่งของจีนมองมังกรเป็นอำนาจดี เป็นเทพเจ้า จึงทำให้มังกรกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปกครองฟ้าดิน ในขณะที่ทางยุโรปมองมังกรเป็นปีศาจและสิ่งชั่วร้าย จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในแง่ที่ หากผู้ใดปราบได้ ก็เท่ากับสามารถปราบสิ่งชั่วร้ายได้ เท่ากับมีความดี และเหมาะสมที่จะมีอำนาจ เรียกได้ว่า ต่างกันที่วิธีการในการ “อ้างอิง” หากแต่มีความสำคัญในบริบททางการเมืองการปกครอง และด้านอำนาจ ไม่ต่างกัน 

สำหรับปี พ.ศ. 2567 นี้ ว่ากันว่าเป็น “ปีมังกรทอง” ที่มีพลังมากในความเชื่อของผู้คนหลายกลุ่ม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจสำหรับมังกรที่มีอิทธิพลมากเช่นกันในแง่มุมความเชื่อด้านการใช้ชีวิต ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างมากที่พื้นที่มีจำกัด เพราะเรื่องราวของมังกรนั้นยังมีอีกมากมายและหลากหลายมิติ ไว้จะหาโอกาสรวบรวมและนำมาเล่าให้อ่านกันในสัปดาห์ต่อๆไปนะครับ

สวัสดีปีใหม่ 2567 ยินดีต้อนรับปี “มังกรทอง” ครับ

เอวัง