ยูร กมลเสรีรัตน์
“การก้าวเข้ามาสู่การเป็นนักเขียนของผม กว่าจะพบความสำเร็จได้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอย่างสาหัสครั้งแล้วครั้งเล่า เลือดตาแทบกระเด็น จนคิดว่าชาตินี้คงไม่ได้เป็นนักเขียนแล้ว” พนมเทียนกล่าวประโยคนี้ที่สมาคมนักเขียนฯครั้งที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2540
นักเขียนเก่าในยุคก่อน กว่าจะพบกับความสำเร็จจนถึงจุดสูงสุดได้ ช่างยากเย็นแสนเข็ญ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ผิดกับนักเขียนยุคหลัง โดยเฉพาะยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่เข้าหลักธรรมชาติ “เกิดง่าย ตายเร็ว” หากนักเขียนยุคก่อน แม้จะเกิดยาก แต่ยืนยง เป็นอมตะ
เฉกเช่นพนมเทียน ผลงานของเขาได้ข้ามกาลเวลาอันยาวนานร่วม 60 ปี ยังยืนยงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผลงานต่าง ๆ ที่นำมาพิมพ์ใหม่ได้รับการต้อนรับจากคนอ่านอย่างอบอุ่น โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ซึ่งเขาเขียนภาคแรกเมื่อปี 2507
ชีวิตการเป็นนักเขียนของพนมเทียนนั้นยากลำบาก เลือดตาแทบกระเด็นเหมือนที่เขากล่าวไว้ข้างต้น เขาเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ “เห่าดง” ลงในสมุดอ่านเล่นเมื่ออายุเพียง 15 ปี ขณะเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม แล้วเวียนกันอ่านในห้อง เมื่อเพื่อน ๆ ได้อ่าน ต่างพากันชมเขา ทำให้เขามีกำลังใจ จึงเขียนนวนิยายเรื่องต่อมาคือ “จุฬาตรีคูณ” ใช้นามปากกา “พนมเทียน” เป็นครั้งแรก ส่งไปให้สมุทร ศิริไข นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้น ในเวลานั้นเป็นบรรณาธิการเพลินจิตต์ แต่ถูกปฏิเสธ
ธรรมเนียมในวงการเขียนของสมัยนั้นจนถึงสมัยหลัง นักเขียนหน้าใหม่ต้องแสดงฝีมือด้วยเรื่องสั้นให้เป็นที่รู้จักก่อน พนมเทียน จึงเขียนเรื่องสั้นส่งไปสยามสมัย ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงในทางเรื่องสั้นของยุคนั้น ช. แสงเพ็ญ หรือชั้น แสงเพ็ญ ซึ่งเป็นบรรณาธิการบอกว่าแนวเรื่องไม่เหมาะกับสยามสมัย พอถูกปฎิเสธครั้งที่ 2 ทำให้เขาซึ่งยังหนุ่มรุ่นเกิดความท้อแท้ จนเกือบจะเลิกเขียนหนังสือ ไม่เคยคิดฝันเลยว่า ในอนาคตตนเองจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ดังที่เขาเคยกล่าวไว้...
“ผมเป็นนักคิด นักฝันและนักอ่านมาแต่เด็ก ในเรื่องภาษาศาสตร์นี่มีเป็นทุนเดิมมาก่อน จากการอ่านวรรณคดีไทย พวกรามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ ความอยากเขียนหนังสือมันเกิดขึ้นในอารมณ์ เป็นการเกิดขึ้นโดยไม่รู้ว่าชีวิตข้างหน้าจะต้องมาเป็นนักเขียน”
ในภายหลังเมื่อเขาได้รู้จัก “แก้วฟ้า” หรือ แก้ว อัจฉริยกุล นักแต่งเพลงและนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงที่เรียกขานกันว่า “ครูแก้ว” เขาจึงเอาจินตนิยายเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ให้อ่าน “ครูแก้ว”จึงสร้างเป็นละครวิทยุแสดงโดยคณะสุนทราภรณ์ ใช้นามปากกาว่าคู่กันว่า “แก้วฟ้า-พนมเทียน” เพื่อดึงชื่อของเขาให้คนรู้จัก
ละครวิทยุเรื่องนี้มีเพลงดังติดหูมาจนมาถึงทุกวันนี้ที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นผู้แต่งคือ จุฬาตรีคูณ ใต้ร่มมลุลี ปองใจรัก อ้อมกอดพี่และจ้าวไม่มีศาล ในเวลาต่อมา “ครูแก้ว”นำนวนิยายเรื่อง “จุฬาตรีคูณ”ออกแสดงที่เวทีเฉลิมไทย ทวีความโด่งดังยิ่งกว่าเดิม
พนมเทียนจึงมีกำลังใจ เขียนนวนิยายเรื่องต่อมาคือ “ปฐพีเพลิง” ส่งไปให้สมุทร ศิริไขอีกครั้ง ด้วยชื่อเสียงจากเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” เรื่องนี้จึงผ่านการพิจารณา วันหนึ่งเวช กระตุกฤกษ์เจ้าของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์มานั่งที่โต๊ะสมุทร ศิริไข เห็นชื่อคนเขียนเป็นนักเขียนหน้าใหม่ จึงสั่งงดพิมพ์ทันที
ดวงชะตาของพนมเทียนถูกกำหนดมาแล้วว่าเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน อีกราว 2 เดือนต่อมาเวช กระตุกฤกษ์มานั่งเล่นที่โต๊ะสมุทร ศิริไขอีก คราวนี้ได้พลิกอ่านดูนวนิยายเรื่องนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ พอได้อ่านแค่บทแรกเท่านั้น รีบสั่งพิมพ์ทันที
ส่วนนวนิยายเรื่องเก่าที่ไม่ผ่านการพิจารณาก็ได้รับการตีพิมพ์ อย่างเรื่อง “เห่าดง”ตีพิมพ์ในเพลินจิต์รายวัน ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งของพนมเทียนที่กล่าวไว้ในเรื่องพรสวรรค์ว่า...
“คุณไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า คุณมีพรสวรรค์หรือไม่ จนกว่าคุณจะเขียนมันออกมาให้คนอ่าน เพราะฉะนั้นต้องถามตัวเองก่อนว่า รักที่จะเป็นนักเขียนไหม เมื่อรักก็จงเขียน อย่าเพิ่งไปนึกถึงค่าตอบแทน”
นับแต่นั้นมานวนิยายของพนมเทียนก็หลั่งไหลออกมาจากจินตนาการของเขาเรื่องแล้วเรื่องเล่า จนเขียนแทบไม่ทัน ตีพิมพ์ในหนังสือที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายฉบับได้แก่ เพลินจจิต์ สยามสมัย เดลิเมล์ นพเก้า บางกอก ศรีสยาม ฯลฯ เมื่อนำไปพิมพ์รวมเล่ม ล้วนขายดีทั้งนั้น
พนมเทียนเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการเขียนหลากหลาย การที่เขามีประสบการณ์ในชีวิตมากมาย เพราะความลำบากยากแค้นในวัยเด็ก เด็กชายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิต้องต่อสู้ชีวิตด้วยตนเองมาตลอด เขาขวนขวายหาเงินเรียนหนังสือเอง ทั้งที่ตระกูล “วิเศษสุวรรณภูมิ” เป็นตระกูลมีอันจะกิน ปู่เป็นถึงเจ้าของเหมืองทองคำ แต่ทุกอย่างได้พินาศลงเมื่อปู่เสียชีวิต
จากการดินรนต่อสู้ชีวิตทุกรูปแบบ ทำให้เขามีประสบการณ์ในชีวิตหลายอย่าง ทั้งชีวิตนักเลงและชีวิตรัก อันเป็นวัตถุดิบมากมายหลายรสในนวนิยายหลายเรื่องของเขา ที่โปรยชื่อเรื่องว่า “พนมเทียน นักเขียนมหัศจรรย์พันมือฯ” เพราะครั้งที่ชื่อเสียงของเขาพุ่งกระฉูด เขาสร้างผลงานไว้มากมาย เรียกว่าเขียนจนมือเป็นระวิง อีกทั้งเขามีความสามารถใน
การเขียนหลายประเภท ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้นและสารคดี สำหรับนวนิยายมีหลากหลายแนวได้แก่ แนวพงไพร แนวอาชญนิยาย แนวลึกลับ แนวสืบสวน แนวรักได้แก่ เพชรพระอุมา(ปัจจุบันมี 48 เล่มจบ) เห่าดง สิงห์สั่งป่า เล็บครุฑ ทูตนรก เด็กเสเพล มัจจุราชสีรุ้ง (16 เล่มจบ) ทางเสือผ่าน นางสิงห์ รัตติกาลยอดรัก รัตติกัลยา พรายพิฆาต ภูติสีชมพู ฆาตกรในเสื้อกาวน์ ปฐพีเพลิง จุฬาตรีคูณ ศิวาราตรี
ละอองดาว สกาวเดือน มัสยา รัศมีแข กัลปังหา ทิวาถวิล ไม่มีเสียงเรียกจากสวรรค์ แววมยุรา ก่อนอุษาสาง เป็นอาทิ ส่วนสารคดีได้แก่ สารพันปัญหาปืน คู่มือการใช้อาวุธปืน-สองเล่มนี้เขียนมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ สารคดียุคหลังได้แก่ ก่อนเทียนจะถึงไฟ เพียงพิมพ์ดีดพูดได้ เจาะลึกเบื้องหลังเพชรพระอุมา ลึกจากลิ้นชัก เป็นอาทิ ส่วนสารคดีเกี่ยวกับเพศศึกษาคือ โลกียสูตร และเพศคู่ รวมเรื่องสั้นแนวสืบสวน-บุรุษวิกล สำหรับเรื่องสั้น พนมเทียนเขาเขียนน้อยมาก เท่าที่สืบค้นได้มีเพียง 15 เรื่อง เขาบอกว่าการเป็นนักเขียนอาชีพนั้น นวนิยายจะมีรายได้มากกว่า
จินตนิยายเรื่อง “ศิวาราตรี” เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของเผ่าอารยันและมิลักขะของอินเดียที่พนมเทียนผูกเรื่องเป็นแนวสงครามระหว่างเผ่าผสมผสานกับการชิงรักหักสวาท โครงเรื่องสลับซับซ้อน ดำเนินเรื่องสนุกตื่นเต้นตลอดทั้งเรื่อง สร้างความประทับใจให้กับคนอ่านมาก สำหรับนวนิยายเรื่อง “รัตติกัลยา” มาเห็นในยุคหลัง ๆ ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารที่อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทองเป็นบรรณาธิการ น่าจะปี 2522 เพราะตอนนั้นรับราชการใหม่ ๆ
นอกจากนามปากกา “พนมเทียน”แล้ว เขายังมีอีก 3 นามปากกาคือ “ก้อง สุรกานต์” ใช้ตอบปัญหาเกี่ยวกับปืน “รพินทร์” ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ลี้ลับของฮินดูและเรื่องเพศศึกษา
ประโยคหนึ่งของพนมเทียนที่จับใจมาก ครั้งมีโอกาสสัมภาษณ์ที่บ้าน “วิเศษสุวรรณภูมิ” ย่านพัฒนาการ กล่าวไว้ เหมือนกับอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผู้สร้างงานเขียนอมตะชุด เหมืองแร่ ที่เคยกล่าวไว้ นั่นก็คือ...
“คนที่จะเป็นนักเขียน ต้องเกิดมาเพื่อที่จะเขียน born to be นั่นเอง แต่ถ้าหากไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเขียน มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนอยากจะเป็นนักเขียนเหลือเกิน แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักที”
“การเลี้ยงดูพ่อแม่นั้น ถ้าสักแต่ให้ข้าวให้น้ำ ไม่ประกอบด้วยความเคารพ ก็จะแตกต่างอย่างใดกับการเลี้ยงหมาเลี้ยงม้า”(ขงจื้อ)