เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาเผชิญปัญหาสินค้าเกษตรกรรมราคาตกต่ำ ทำให้ขาดทุนเสมอ ๆ แม้ว่าสภาวะด้านอาหารในโลกยังขาดแคลนอาหาร
ประเทศไทยประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมายาวนานมาก และก็ยังไม่มีใครหาวิธีแก้ไขแบบยั่งยืนได้เลย ส่วนใหญ่รัฐทำได้แค่เพียงแก้ปัญหาปลายเหตุเท่านั้น เช่น การประกันราคา , การจำนำข้าว , รัฐรับซื้อผลผลิตไว้เองในราคาสูงกว่าตลาด เป็นต้น ซื่งก็ช่วยเหลือเกษตรกรแบบชั่วคราวได้สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
ฝ่ายนักวิชาการด้านสหกรณ์ ก็พยายามเสนอแนะให้พัฒนา ขยาย สหกรณ์ แต่ย้อนดูประวัติการเมืองแล้ว ก็เห็นว่าไม่มีรัฐบาลไทยชุดใด จริงใจกับลัทธิสหกรณ์ !
เพราะนักการเมืองและข้าราชการไทยเป็น “นายทุน” หรือไม่ก็เป็น “ผู้รับใช้นายทุน”
ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะมองว่า เหตุผลต้นตอที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็คือมีผลผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาดเฉพาะหน้า ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น สำหรับไม้ผลยังแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ทั้ง เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง และลำไย เป็นต้น ผลไม้เหล่านี้มักจะมีช่วงการเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้ราคาตกต่ำเป็นประจำ
นักวิชาการได้เสนอหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ โดยมุ่งเน้นการตลาดหรือด้านความต้องการของผู้บริโภค (อุปสงค์) และการวางแผนด้านการผลิต (อุปทาน)
การวางแผนด้านการผลิตนั้น รัฐจะต้องกำหนดพื้นที่เพาะปลูก เรียกกันอย่างเคยชินว่า โซนนิ่ง แต่มันทำสำเร็จยาก เพราะบ้านเมืองนี้เป็นแดนเสรี บังคับกันไม่ได้
การจำกัดพื้นที่เพาะปลูกไม่อาจจะบังคับ ห้ามปรามกันได้ หาดจะทำก็ต้องมีมาตรการจูงใจ ทดแทนการบังคับ เช่น รัฐบาลจะต้องมีวิธีการยกระดับราคาพืชผลให้ได้ตามที่ประกาศไว้ โดยมีผลเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมเท่านั้น นอกพื้นที่ดังกล่าวทางราชการจะไม่รับผิดชอบเรื่องราคา แต่ก็อาจจะมีพืชผลชนิดดังกล่าวจากพื้นที่ต่าง ๆ ไหลเข้ามาสู่เขตส่งเสริมมากมาย ดังนั้นนอกจากจะกำหนดพื้นที่ปลูกแล้ว ยังต้องกำหนดเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกอีกด้วยโดยรัฐบาลจะต้องอาศัยองค์กรเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ รับผิดชอบ แต่ปัญหาหนักก็คือยังมีองค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งน้อย เกษตรกรรายย่อยขาดพลัง ไม่ค่อยมีการรวมตัวกัน
ระบบ “ทุนนิยม” นับตั้งแต่ “ยุคสะสมทุน” มาจนถึง “ยุคโลกาภิวัตน์” ล้วนแล้วแต่ขูดรีดภาคเกษตรกรรม ดูดกินน้ำเลี้ยงจากภาคเกษตรกรรม กดราคาสินค้าเกษตรปฐมภูมิ (ราคาพืชผล) ราคาสินค้าปฐมภูมิ เช่น ข้าว ยางพารา ผลปาล์มน้ำมัน เมล็ดข้าวโพด หัวมันสำปะหลัง ฯลฯ ราคาไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและการผลิตเพาะปลูกพืช แพงขึ้นตลอด แต่มิได้ยกระดับฐานะเศรษฐกิจของเกษตรกรเท่าที่ควร
นี่คือจุดบอดอันร้ายแรงของระบบทุนนิยมโลก
เศรษฐกิจทุนนิยมไทยเป็นส่วนหนึ่งในระบบโลก การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรกรรมราคาต่ำจึงยากมาก เพราะตลาดสินค้าเกษตรกรรมถูกกำหนด ถูกครอบงำโดยอภิทุนข้ามชาติ
จะหวังให้องค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรภาคประชาชนในไทยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรรม คงไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีการปฏิรูป “ทุนนิยมโลก” โดยหันมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น จัดสรรแบ่งปันรายได้ให้ถึงมือผู้ผลิตคือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
ข้อเสนอนี้แม้จะยากเย็นแสนเข็ญ แต่เราก็ขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์