ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

“เรื่องที่ผมเขียน มีอยู่คนหนึ่งอ่านแล้วอ่านอีกตั้งหลายเที่ยวแน่ะ” ใคร ๆ ก็ตั้งท่าฟังด้วยความอยากรู้ แล้ว ‘พี่ทวีสุข’ ก็เฉลยว่า ”ก็คนตรวจปรู๊ฟไง”

“พี่ทวีสุข” ก็คือ ทวีสุข ทองถาวร คู่ชีวิตของนิภา บางยี่ขันหรือนิภา ทองถาวร ซึ่งล่วงลับไปแล้วทั้งสองคน ส่วน “พี่นิภา”จากไปเมื่อปีก่อน

ใครที่รู้จัก “พี่ทวีสุข” ก็จะรู้ว่านอกจากจะเป็นกวีฝีมือดีแล้ว ยังเป็นคนมีอารมณ์ขัน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  มักจะมีเรื่องต่าง ๆ มาเล่าให้ได้หัวเราะอยู่เสมอ จะหาโอกาสพบปะสังสรรค์กันบ่อยครั้ง บางครั้งผมไปเยี่ยมที่บ้านย่านจรัลสนิทวงศ์ ไม่ไกลจากบ้านของผม เพราะอยู่ในย่านเดียวกัน

ครั้งหนึ่งขณะกำลังยืนรอประชุมกรรมการสมาคมนักเขียนฯอยู่นอกอาคาร 3-4 คน ยุคที่ประยอม    ซองทอง เป็นนายกสมาคมฯ เมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้ว เราเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนฯด้วยกันถึง 2 สมัย ยืนคุยกันสารพัดเรื่อง ตอนหนึ่ง “พี่ทวีสุข” เล่าว่า...

“ผู้หญิงคนหนึ่งเขียนจดหมายปรึกษาศิราณี เล่าว่า ทำไมสามีของหนูชอบมายุ่งกับหนูตอนที่หนูรีดผ้า เสื้อผ้าที่หนูกำลังรีด ยับไปยับมา ยับแล้วยับอีก เขามีความผิดปกติหรือเปล่าคะ หนูขอคำปรึกษาด้วยว่าทำยังไงเขาจะเลิกทำแบบนี้ หนูต้องขอโทษด้วยนะคะที่หนูเขียนตัวหนังสือโย้ไปโย้มา เดี๋ยวก็โย้ไปข้างหน้า โย้แล้วโย้อีก หนูเขียนต่อไม่ได้แล้วค่ะ ขอจบเพียงเท่านี้นะคะ”

เล่าจบ พวกเราก็ฮาครืนในมุขขำ ถ้าใครสนิทสนมกับ “พี่ทวีสุข”จะรู้ว่าเนื้อแท้ว่าเป็นคนอารมณ์ดี มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าให้ฟังเสมอ ทั้งเรื่องมีสาระ เรื่องกาพย์กลอนและเรื่องไร้สาระ แต่เบาสมอง เพลิดเพลินใจ

อิงอร(ศักดิ์เกษม หุตาคม) นักเขียนนวนิยายชื่อดังรุ่นลายคราม ให้สมญานาม “พี่ทวีสุข” ว่า “ทวีสุข ทองถาวรนักกลอนหนุ่ม ปากกาจุ่มน้ำผึ้งแล้วจึงเขียน” เพราะในยุคกลอนโรแมนติก “พี่ทวีสุข”เขียนบทกลอนได้หวานจับใจกว่าใคร ๆ ในรุ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนิภา บางยี่ขัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ดวงใจ รวิปรีชา ธัญญา ธัญญามาศ ฯลฯ

ทวีสุข ทองถาวรเขียนกลอนเป็นตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมและเขียนเรื่อยมา จนกระทั่งเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ในปี 2504 เขาจึงเริ่มเขียนกลอนอย่างจริงจังส่งนิตยสาร ต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่มีคอลัมน์วรรณศิลป์เช่น ชาวกรุง  สยามมัย  แสนสุข ไท-ทรรศน์ เป็นต้น ดังที่บอกเล่า...

“มีหนังสืออะไรที่มีคอลัมน์กลอน พี่ส่งไปหมด พี่ชอบเขียนกลอน เพราะตอนยังเด็กรับจ้างอ่านหนังสือให้แม่ฟัง แม่ไม่รู้หนังสือ ก็อ่านสังข์ทอง พระอภัยมณี อะไรพวกนี้ ตอนนั้นอยู่ม.3 อ่านสังข์ทองจนท่องได้ทั้งเล่มเลยจริง ๆ แล้วอยากจะเขียนตั้งแต่สมัยท่องบทอาขยานตอนประถมที่ว่า ‘แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน’  ชอบมาก เออ! เขียนเพราะดีนะ ก็เลยเขียนเตาะ ๆ แตะ ๆ มาเรื่อย  ปี 04 ที่เข้าธรรมศาสตร์ ถึงตั้งหน้าตั้งตาเขียนจริง ๆ บ้ากลอนเป็นอันมาก”

ประมาณปี 2505 ทวีสุข ทองถาวรเริ่มเขียนไปเผยแพร่ในรายการวิทยุชื่อรายการ “กังวานใจ”ของสวัสดิ์  ธงศรีเจริญ กวีรุ่นครู เป็นรายการที่ได้รับความนิยมมากในยุคนั้นและในปีนั้นเองที่ ตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์

“ชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ มีเชษฐ์  พนาพันธุ์ เป็นประธาน นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นรองประธาน กรรมการก็มี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร(เฉลิม รงคผลิน,หยก บูรพา) เป็นเพื่อนร่วมรุ่นคณะนิติศาสตร์และอีกหลายคนจากคณะอื่น”

เพื่อนนักศึกจากคณะอื่นที่เป็นกรรมการชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาตร์ ได้แก่ นิภา บางยี่ขัน  ดวงใจ รวิปรีชา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถาวร บุญปวัฒน์ หรือถาวร ทองเกลี้ยง เป็นอาทิ

จากการรวมตัวกันก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ จึงเป็นที่มาของจุดกำเนิด “สี่มือทองธรรมศาสตร์”เมื่อปี 2508 ซึ่งเป็นตำนานที่กล่าวขานจนถึงทุกวันนี้ ประกอบด้วยนิภา บางยี่ขัน ทวีสุข ทองถาวร ดวงใจ รวิปรีชา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในยุคนั้นชื่อของนิภา บางยี่ขันโดดเด่นที่สุด รองลงมาคือ ทวีสุข ทองถาวร หากบัดนี้ “สี่มือทองธรรมศาสตร์” เหลือเพียงคนเดียวแล้ว

“ว่ากลอนสดซะมาก  ออกกลอนเร็ว ว่างั้นเถอะ”รอยยิ้มผุดขึ้นบนใบหน้า ขณะที่พูด “กลอนสดนี่เขียนแป๊บเดียว 5 นาทีก็เสร็จแล้ว ที่ไม่ใช่กลอนโรแมนติกก็เขียนนะ  แต่มันก็ยังดูโรแมนติกอยุ่นั่นแหละ คนรู้จักทวีสุข ก็เพราะกลอนรักนี่แหละ รู้สึกว่างานของตัวเองมีครบรสบทกวีสี่รส- เสาวรจนี  นารีปราโมทย์  พิโรธวาทัง   สัลลาปังคพิสัย แล้วเติมหัสนัยวาทีของตัวเองเข้าไปเป็นห้ารส  ก็ตลก ๆ ไงล่ะ จะใช้นามปากกาเขียนในหนังสือแนวตลก”

“พี่ทวีสุข”พูดจบ ก็ท่องบทกลอนที่แต่งให้ฟัง ไพเราะและซึ้งจับใจ...

“พิศนิ้วเนียนเพียรพนม....ยิ้มสมหวัง

หยดน้ำสังข์หลั่งหยาดมิขาดสาย

แข่งอาการคนกำลังจะคลั่งตาย

ซึ่งทรงกายเป็นพยานการวิวาห์

อยากลบรอยเท้าเปื้อนพื้นเรือนหอ

ลบภาพคู่เคียงคลอกันต่อหน้า

ยิ่งอยากลบยิ่งกระจ่างไม่ร้างลา

เห็นตำตาจึงจำไว้ตำใจ”              

ชิ้นนี้ตัดตอนมาจากบทกวีที่ชื่อ”ตำตาตำใจ” ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงของตัวเองกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยรักกัน แต่ไปแต่งงานกับคนอื่น อยู่ในรวมบทกวีชื่อ”แพร” อันเป็นเล่มที่รวมผลงานเดี่ยวของทวีสุข ทองถาวร

“ตอนที่แต่งชิ้นนี้ เขาเชิญเราไปงานแต่งงาน คือเขาเรียนจบก่อนเรา เราเรียนทน”เสียงหัวเราะร่วนในท้ายประโยคประสาคนอารมณ์ดี” ตอนที่เขาแต่งงานน่ะ เรายังเรียนไม่จบ  เราเรียนประมาณแปดปี เรียนทนมาก”

ส่วนผลงานเล่มอื่น ๆ จะรวมกับกวีคนอื่น ๆ อันเป็นธรรมเนียมของยุคนั้นที่จะให้ชื่ออิงกัน ได้แก่ หางนกยูง 1-2  คำหอม  นิราศกรุงเก่า ผีเสื้อหลากสี มงกุฏกวี เป็นอาทิ จากที่ทวีสุข ทองถาวร มีฝีมือในการแต่งบทกลอนโรแมนติก จึงได้เข้าสู่วงการเพลงในยุคนั้น แต่งเพลงให้นักร้องหลายคน รายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ใส่ชื่อของนักแต่งเพลงดังในยุคนั้นคือ ทวีพงษ์ มณีนิล 

ปลายปี 2542 ทวีสุข ทองถาวรแต่งเพลงให้สุนารี ราชสีมาโดยผ่องศรี วรนุช เป็นคนแนะนำให้รู้จัก แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ก็ล้มป่วยอย่างกระทันหัน เพราะเส้นโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์และจากไปเมื่อปี 2544 ขอยกตัวอย่างบทกลอน “เหมือนนกขมิ้น”ของทวีสุข ทองถาวร เป็นการปิดท้าย ด้วยความรำลึกถึง...

“...ฉันถูกปล่อยอยู่กลางความว่างเปล่า

เหมือนอกเจ้านกขมิ้นชินจนเฉย

พรุ่งนี้ขวัญคงค้างอีกอย่างเคย

ชีพสังเวยความทุกข์ที่คุกคาม

กราบหมอนน้อยเพื่อนนอนค่อนคืนนี้

ขอพรศรีสรวมกมล“คนต้องห้าม”

ยืมเยื่อใยใต้หมอนสะท้อนความ

แทนถ้อยถามทักท้วงเธอห่วงใย

สำหรับเธอที่ฉันเฝ้าฝันหา

หากถามว่าคืนนี้นอนที่ไหน

จะตอบถ้อยที่ถามไปตามใจ

ฉันหลับแล้วอยู่ใกล้ใกล้หัวใจเธอ”

 

 

“ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งนิรันดร ความเปลี่ยนแปลงย่อมบังเกิดทั้งในชีวิตของเราและในความเป็นไปของโลก เราจะต้องติดตามมันไป ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม มันเป็นของจริง มันเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา สัมผัสกับชีวิตของเราทุกคน” (ศรีบูรพา)