สถาพร ศรีสัจจัง
ทำไมจากความเป็น “ทิพรูป” จึงต้องกลายเป็น “เพชรรูป” ไปได้?
ต้องเข้าใจให้ตรงกันเป็นเบื้องต้นเสียก่อนว่า “นายผี” ซึ่งเป็นที่ทราบกันอย่างประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่า เป็นนามปากกาของ “ท่านอัศนี พลจันทร” อดีตอัยการหลายจังหวัดนั้น เป็นบุตรชายคนเดียวของคุณพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กับนางมนูกิจวิมลอรรถ (สอิ้ง) สืบเชื้อสายมาจากพระยาพล อดีตเจ้าเมืองกาญจนบุรี แม้จะถูกปลดในภายหลัง แต่ก็สามารถก่ออิทธิพลบารมีขึ้นเป็นเจ้าของ “บ้านรั้วใหญ่” แห่งเมืองท่าเสา ใกล้เขางูเมืองราชบุรีอย่างเป็นที่รู้ๆกัน
กล่าวโดยสรุป “นายผี” หรือ “อัศนี พลจันทร” จึงเป็น “คุณหนู” ผู้มีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นศักดินาเก่าอย่างเต็มรูป ใครที่ศึกษาประวัติส่วนตัวของท่าน อย่างลงลึก ย่อมจะรู้ดีว่า ท่านได้รับการเลี้ยงดูมาแบบ “ไข่ในหิน” แบบลูกชายคนเดียวของครอบครัว “คนชั้นสูง” ในสังคมไทยยุคก่อนปีพ.ศ.2500 อย่างไร?
ชีวิตเบื้องต้นของท่านจึงเป็นเหมือน “ทิพรูป” หรือเป็นคน “ขั้นเทพ” หรืออะไรทำนองนั้น!
นั่นคือสถานการณ์ชีวิต “นายผี” ก่อนที่จะค่อยๆถูก “ความคิดใหม่” หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เรียนรู้ จากสิ่งแวดล้อม และ “ข้อมูลใหม่” โดยเฉพาะในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัยและวัยเริ่มทำงาน
การถูกหล่อหลอมในขณะเรียนมหาวิทยาลัย(ธรรมศาสตร์และการเมือง)นี้ “นายผี” ในนามปากกา “สายฟ้า” ได้เขียนไว้อย่างละเอียดชัดเจนในบทความขนาดยาวชื่อ “ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว” ซึ่งสถาบันไทยศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นผู้นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ระบุว่า บทความชิ้นดังกล่าวนี้ “นายผี” เขียนขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2527 คือช่วงก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตเพียง 3 ปีเท่านั้น
เป็นบทความที่กล่าวได้เลยว่า ผู้สนใจหรือตั้งใจจะเรียนรู้และศึกษาเรื่องราวของ “นายผี” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาอ่านให้ได้!
ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปว่า อะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างแท้จริงต่อการเปลี่ยนแปลง “โลกทัศน์” ของนายผีให้เคลื่อนย้ายจากโลกทัศน์แบบ “ศักดินา” มาเป็นโลกทัศน์แบบ “กระฎุมพีและกรรมาชีพ” ก็ คงต้องบอกว่า ก็คือ “วรรณกรรม” นั่นแหละ!
คือเริ่มต้นจากการเป็น “หนอนหนังสือ” (ตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) สู่การเป็น “กวีและนักเขียน” แล้วก้าวสู่ความเป็น “นักคิด” และ “นักวรรณคดี” (Literary man) แล้วท้ายสุดจึงแปรรูปสู่การเป็น “นักปฏิบัติ” (ปฏิวัติ) อย่างเต็มตัว ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ในท้ายที่สุด
การแสวงหาด้วยการอ่านเพื่อเติมเต็มความรู้-ความคิด อย่างรอบด้าน อย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งด้านกว้างและด้านลึก ทำให้ “อัศนีหนุ่ม” ได้พบว่า “เครื่องมือ” ในการแสวงหาความรู้คือ “ภาษา” นั้นสำคัญยิ่ง เขาจึงกลายเป็น “เอตทัคคะ” เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อมา กล่าวกันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาต่างๆรวมแล้วนับได้ถึง 7 ภาษาเอาทีเดียว!
หากลองพิจารณาดู “วันเวลาในวัยหนุ่มแห่งชีวิต” ของ “นายผี” ก็จะพบว่า ท่านเกิดในปี พ.ศ.2461 (รัชกาลที่ 6) เรียนจบม.8 จากโรงสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2479 เรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2483 เข้ารับราชการเป็นอัยการครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2484 (ขณะอายุเพียงอายุ 23 ปี) และ ลาออกจากราชการดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2495 (อายุ35 ปี)
ช่วงระหว่างรับราชการ คือระหว่างพ.ศ. 2484-2495 (ก่อนเกิดกบฏสันติภาพในเดือนพฤศจิกายน 2495) นั้น “นายผี”มีพัฒนาการทางความคิดและการเขียนอย่างรวดเร็วมาก ทำราชการไปพร้อมๆกับการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมและงานทางวิชาการ
จนท้ายสุดจึงตัดสินใจเด็ดขาด คือเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างที่ได้บันทึกไว้ในงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ว่า “เตร็จในพนมงม/ดูเง่าเพชรอยู่งึมงำ” ซึ่งก็คือการตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สู้รบกับรัฐบาลปฏิกิริยาไทย(ยุคนั้น)ในเขตป่าเขานั่นเอง!
เรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าวนี้ “นายผี” ได้เขียนบรรยายเป็นเชิงอัตนัยอย่างค่อนข้างละเอียด และลงลึกถึงความรู้สึกไว้ในช่วงท้ายสุดของตอนที่ 3 ของงานกวีนิพนธ์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง”
ในช่วงต้นของตอนที่ 3 (ตอนที่ 3 นี้นายผีใช้ “กาพย์ฉบัง 16” เป็นฉันทลักษณ์ในการรจนา) ก็เป็นเช่นตอนที่ 1 และ 2 คือ “นายผี” ได้กล่าวถึงและวิจารณ์พัฒนานาการทางการเมืองและความจัดแย้งทางชนชั้นของสังคมไทยอย่างลงอารมณ์แบบเห็นภาพ เต็มไปด้วยความมีน้ำเนื้อที่กลมกลืนยิ่ง ระหว่างเนื้อหากับสุนทรียรสที่เกิดจากรูปแบบของ “ลีลากวี” ในท่วงทำนองกาพย์ฉบัง 16 โดยฝีมือชั้นปรมาจารย์ชนิดสามารถ “สั่งคำได้เหมือนใจ” จริงๆ
จะลองยกลีลา “กาพย์ฉบัง 16” ชั้นครูของ “นายผี” ที่เขียนเพื่อฉายภาพ “ความเปลี่ยนแปลง” (โลกทัศน์) ของตัวเองจากความเป็น “ทิพรูป” (ศักดินา) มาเป็น “เพชรรูป” (กรรมาชีพ)ในช่วงท้ายสุดของกวีนิพนธ์ “ความเปลี่ยนแปลง” ตอนที่ 3 (ซึ่งเป็นท่อนจบเรื่อง) มาให้ดูกันสักพอสมควรแก่คุณค่า เพื่อร่วมตราไว้ให้เห็นว่า “กวีประชาชนชั้นครู” นั้นเขาทำงานมีคุณภาพสูงส่งขนาดไหนและอย่างไร :
“…โอ้เชื้อราชพรีนี้ใคร/ยืนหยัดอยู่ใน/กระหนาบแห่งเพลิงอันธพาล/บมิได้ตระหนกตกดาล/บมิได้สงสาร/แก่อาตมาอาลัย/บมิได้ระย่อท้อใจ/บมิจักสงสัย/ในสันติภาพอันเพรา…ส่องสว่างกลางใจรุจา/สี่สิบล้านตา/ก็แลตระลึงล้วนขม/ทิพรูปเลงลานอารมณ์/เงยบ่งายงม/เง่าเพชรที่ในไพรพนอม/สิ้นซึมงึมงำตรำตรอม/สิ้นบ่ยินยอม/ก็สิ้นอหังการไกร…”
และแล้วจึง
“…ทิพรูปมิกลัวเพลิงพราม/โจนลงสู่สนาม/สำนึกถนัดบมิหนี/ลงสู่เบ้าหลอมรุจี/สูบไล่ราคี/คะคึกคะคึกบมิคลา/เพลิงพลุ่งไพโรจน์รุจา/จับพื้นนภา/สะพรึบสะพราสดาดแดง/โหมไฟไล่ขี้ควรแสยง/ลุกเริงเพลิงแรง/แลทิพรูปเลงลาญ/เจ็บปวดรวดร้าวเหลือประมาณ/เพียงหัวใจหาญ/จะแหกทะลายฤาดี/เพลิงเผาเร่าร้อนทบทวี/ทำลายอินทรีย์/คือทิพรูปบรรลัย/เกิดเป็นกายเพชรผ่องใส/และแล้วหัวใจ/คือเพชรรัตน์รูจี/ขึ้นจากเบ้าหลอมทันที/มือถือคัมภีร์/ลายแทงอันเรืองฤทธา/เขม้นมุ่งเขาเขียวบมิคลา/ดูดวงดารา/ทั้งห้าก็เต้าตามดาว…”
ถึงตรงนี้คงต้องหยุดอธิบายกันเสียก่อนสักหน่อยก่อนจะจบเรื่อง เพราะกาพย์ฉบัง 16 ช่วงท้ายนี้เร้นแฝงเอาไว้ด้วย “นัย” หลายเรื่องหลายราว บางทีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยเข้าใจ “ฉากทัศน์” ของพลังความตั้งใจอย่างล้ำลึกในการเขียน “ความเปลี่ยนแปลงของ “นายผี” อาจยากที่จะตีความ จากนั้นก็แน่นอนว่าย่อมต้องถึงบทสรุปแห่งความมีคุณค่า และ ความยิ่งใหญ่ของ “มหากาพย์” เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” อันยิ่งใหญ่นี้.!ฯ