ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

คำพูดที่ว่า “นักเขียนไส้แห้ง” ได้ยินกันมานมนานแต่ไหนแต่ไร เพราะอาชีพนักเขียนในยุคก่อนนั้น มีรายได้น้อยมาก ดังเช่นนักเขียนรุ่นครูที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “ราชาเรื่องสั้นของไทย”--มนัส จรรยงค์ บางช่วงไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ แม้แต่นักเขียนระดับโลกอย่างฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ผู้เขียนรักของผู้ยากไร้ ต้นแบบนวนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา ต้องหอบเสื้อคลุมเข้าโรงจำนำบ่อยครั้ง

แต่คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับณรงค์ จันทร์เรือง ผู้เขียน “เทพธิดาโรงแรม”อันดังกระฉ่อนเมื่อ กว่า 50  ปีก่อน  เขาได้ได้ค่าเรื่องเป็นเงินสดวันละ 1 พันบาท ดังที่เขาบอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเบิกบานว่า...

“สมัยนั้นผมส่งเรื่องวันละ 2 ตอน ๆ ละ 500 บาท ผมเอาต้นฉบับไปส่งที่โรงพิมพ์ แล้วเบิกค่าเรื่องได้เลย อย่างผมวันจันทร์ส่งที่บางกอก  วันอังคารส่งที่สกุลไทย วันพุธส่งที่นพเก้า วันพฤหัสส่งที่บางกอกอีก แล้ววันศุกร์ส่งที่สกุลไทย หมุนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ”

หลังจากเบิกค่าเรื่องแล้ว ก็ท่องราตรีกับเพื่อนพ้องคอเดียวกันได้แก่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียน “ขุนเดช” และผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เสถียร จันทิมาธร อดีตบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ฯลฯ วิสัยของนักเขียนสมัยก่อนส่วนมากจะท่องราตรีหลายแห่งจนกว่าจะเพียบ  

ผมได้ฟังแล้ว ทั้งตาลุก ทั้งทึ่งในระบบการจ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนในสมัยก่อน ไม่เหมือนสมัยหลัง แม้วงการหนังสือเฟืองฟู ก่อนยุคโซเชียล เน็ตเวิร์คจะเข้ายึดครอง ส่งต้นฉบับแล้ว ยังต้องรอค่าเรื่องออกอย่างน้อย 1 เดือน

นักเขียนวัยหนุ่มใหญ่ครั้งกระนั้นบอกเล่าต่อว่า ยกเว้นนิตยสารฉบับเดียวที่เบิกค่าตอนไปส่งต้นฉบับไม่ได้คือ ฟ้าเมืองไทยของบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์ ปัญจพรรค์

“ฟ้าเมืองไทยลงแล้ว ถึงจ่ายเงินวันพุธ ทุกวันพุธนักเขียนก็จะไปรับค่าเรื่องพร้อมกับส่งเรื่องสำหรับพุธหน้า”

ไม่ถือว่ารอนานเลย แค่ไม่กี่วัน ที่น่าชื่นใจก็คือ รับค่าเรื่องแล้ว ก็ยกขบวนไปสังสรรค์กันที่ ร้านพงษ์หลี ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่เรียกกันว่าชุมนุมวันพุธ

สมัยนั้นนักเขียนไส้เปียกคนนี้ฟู่ฟ่าไหมล่ะ มีเงินใช้ไม่เคยขาดมือ แต่การที่จะใช้ชีวิตฟู่ฟ่าแบบนี้ได้ ต้องมีวินัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด นี่แหละที่เรียกว่ามืออาชีพ

“นักเขียนอาชีพต้องรับผิดชอบเรื่องงานของตัวเองในการส่งต้นฉบับ ต้องส่งให้ทันตามกำหนด แม้แต่เขียนเป็นเล่มก็เหมือนกัน”

ณรงค์ จันทร์เรือง ย้ำว่า สิ่งสำคัญก็คือ ต้องทำงานให้ดีที่สุด อย่าสุกเอาเผากิน ต้องรักษาคุณภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ  แม้เขาจะเคร่งครัดในการทำงาน แต่เขาก็มีตารางวันหยุดสำหรับตัวเองและเพื่อนในวงการ นั่นก็คือ...

“หยุดเสาร์ อาทิตย์เหมือนกับข้าราชการ ไปกินเหล้ากับเพื่อนฝูง ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวไหน ก็ทำงานล่วงหน้าเอาไว้ ตอนเย็นกินเหล้า ถ้าเพื่อนฝูงมา โอ.เค.กินเหล้ากัน พอถึงวันจันทร์ก็สบาย มีสต็อกล่วงหน้าไว้แล้ว”    

ณรงค์ จันทร์เรือง มีความสามารถในการเขียนรอบด้าน นอกเหนือจากเขียนนวนิยายเป็นงานประจำแล้ว หากบรรณาธิการต้องการเรื่องประเภทไหน เขาก็จะเขียนให้

“แต่ละวันผมเขียนเรื่องเสร็จประมาณบ่าย 2 ต้องให้ได้ 2 ชิ้น อาจเป็นเรื่องยาว 2 ตอน หรือเรื่องสั้น 2 เรื่อง หรือสารคดีเรื่องหนึ่ง เรื่องสั้นอีกเรื่องหนี่ง หรือคอลัมน์ชิ้นหนึ่ง  เรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง”

เขาบอกว่าสมัยนั้น ถ้าเขียนเรื่องยาว จะได้ค่าเรื่องตอนละ 500 บาท ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนเรื่องสั้นโดยทั่วไปได้ค่าเรื่อง 200 บาท ถ้าเป็นนักเขียนมีชื่อเสียงมากก็ได้ค่าเรื่อง 300 บาท

“ แต่อย่าลืมว่าช่วงปี 2510-2515 ทองบาทละ 400 บาท” เขาเน้นเสียง “ผมได้ค่าเรื่องสั้น 200 บาท สามารถซื้อทองได้ 2 สลึง สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 1-2 บาทเท่านั้น สมัยเมื่อ 50 กว่าปีก่อนมีประชากรประมาณ 20 ล้านคน พ็อกเก็ตบุ้คพิมพ์ 4,000-5,000 เล่ม  ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงปีก็ขายหมด”

เขาขยายความต่อว่า ตรงกันข้ามกับปัจจุบันมีประชาการ 60 กว่าล้านคน พ็อกเก็ตบุ้คพิมพ์แค่ 3,000 เล่มเท่านั้น แต่บางเล่มสองปียังขายไม่หมด แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยก่อนอ่านหนังสือมากกว่าคนในสมัยนี้เกือบเท่าตัว เขาสรุปว่า

“สมัยก่อนไม่มีสื่อให้สื่อบันเทิงมากเหมือนสมัยนี้ด้วย แต่อย่าลืมว่าคนในสมัยก่อนไม่รู้หนังสือเยอะเหมือนคนในสมัยนี้ ก็ยังพิมพ์หนังสือ 4,000-5,000เล่ม  เดี๋ยวนี้คนรู้หนังสือเยอะกว่า กลับพิมพ์ 3,000 เล่ม”

ส่วนค่าเรื่องในการพิมพ์หนังสือนั้น เขาบอกว่าไม่ได้คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ คูณด้วยจำนวนพิมพ์เหมือนสมัยนี้  แล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับค่าเรื่องสั้นที่พิมพ์ได้เล่มละ 5 บาท  ถ้าพิมพ์ปกแข็ง ได้ 1,000 บาท  มาเพิ่มเป็น 1,000 บาท 1,500 บาท และ 2,000 บาท ตามกาลเวลา

สมัยต่อมาที่เขาได้ค่าเรื่องจากนวนิยายประมาณตอนละ 3 พันบาท ขณะที่ก๋วยเตี๋ยวตกชามละ 15-20 บาท แต่ไม่ได้เงินในทันทีที่ส่งต้นฉบับเหมือนในสมัยนั้นและค่าของเงินก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หากย้อนรอยไปในอดีตของชีวิตการเป็นนักเขียนของ ณรงค์ จันทร์เรือง เขามีผลงานชิ้นแรกครั้งที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม 6 เป็นกลอนแปด ส่งไปลงที่หนังสือศรีสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือรายสัปดาห์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย แม้ไม่ได้ค่าเรื่อง เขาก็ตื่นเต้นและดีใจมาก ต่อมา เขียนนิทานไปลงหนังสือดรุณสาร ซึ่งเป็นหนังสือในเครือสตรีสาร ประมาณปีพ.ศ. 2503-2504 ส่วนเรื่องสั้นเรื่องแรกคือเรื่อง“วิวาห์ในอากาศ” ลงที่นิตยสารแสนสุข

หนังสือที่ ณรงค์  จันทร์เรือง ใฝ่ฝันจะมีเรื่องสั้นลงมากที่สุดคือ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งยุคนั้นประมูล  อุณหธูป นักเขียน-นักแปล นามปากกา “อุษณา  เพลิงธรรม” ผู้เขียน “เรื่องของจัน ดารา” เป็นบรรณาธิการ แต่ส่งไปเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านการพิจารณา ดังที่เขาสารภาพความในใจว่า

“ผมอยากมีเรื่องสั้นลงสยามรัฐฯมาก ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี  ตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปี 2508 เรื่องถึงได้ลงสยามรัฐฯเรื่อง โรงนา” 

เหตุที่ ณรงค์ จันทร์เรือง อยากมีเรื่องสั้นลงสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์มาก เพราะยุคนั้นสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ถือว่าเป็นสถาบันเรื่องสั้น ใครมีเรื่องสั้นลง เหมือนได้ใบประกาศนียบัตร

“เรื่องของผมไม่เคยลงตะกร้าเลยก็ว่าได้  คือถ้าเรื่องสั้นเรื่องไหนของผมไม่ได้ลงสยามรัฐฯ ผมก็จะเอาไปลงที่อื่นอีกหลายฉบับ”

ความหลงใหลในการประพันธ์ จนรู้สึกถึงความหอมของกลิ่นน้ำหมึก เขาเรียนถึงมัธยม 8 หรือ“ม.8” เขาก็เลิกเรียนกลางคัน เมื่อเขาเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกในขณะที่อายุได้ 18-19 ปี ดังเขาเล่าถึงอดีตช่วงนี้ว่า

“ผมเขียนเรื่องสั้นได้ประมาณ 20-30 เรื่อง ก็เขียนเรื่องยาวให้เพลินจิตต์รายวัน ขายเล่มละ 1 บาท 50 สตางค์ มีอยู่ 3 ชื่อคือ บันเทิง  เริงรมย์  หรรษา หมุนเวียนกันออกแต่ละวัน”

เรื่องยาวที่เขาเขียน 3 เรื่องคือ เรื่องบู๊โลดโผน “กริชมหากาฬ” ใช้นามปากกา เลิศ  ฤทธิรงค์ เเรื่องผี- “วิญญาณพิศวาส” เรื่องรักหวานแหวว- “วิมานเมฆ” ใช้นามปากกา ช่อดาว  ศิริพันธ์

“ตอนผมเขียนที่เพลินจิตต์ มีรายได้กว่าสามเท่าของค่าแรงปริญญาตรีสมัยนั้น ผมมีรายได้ เดือนละ 1,200 บาท คนเรียนจบปริญญาตรีสมัยนั้นได้เงินเดือน 750 บาท ผมออกจากม. 8 เลย ไม่เรียนแล้ว”

หลังจากนั้นเขาก็กลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกเป็นจำนวนมาก แล้วจึงเริ่มเขียนนวนิยายอีกครั้งหนึ่งคือเรื่อง “มัสยาที่วังเย็น” ที่นิตยสารบางกอกของวิชิต โรจนประภาและเรื่อง “จอมปฐพี” ที่นิตยสารจักรวาล ฉบับเพชรพระอุมา ของฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือพนมเทียน ผู้สร้างนวนิยายระดับมหากาพย์เรื่อง “เพชรพระอุมา” ในเวลาต่อมา เขาก็มีนวนิยายลงในนิตยสารต่าง ๆ อีกหลายฉบับได้แก่ แสนสุข เดลิเมล์วันจันทร์  สกุลไทย ฯลฯ

นวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้กับณรงค์ จันทร์เรือง จนดังก้องเป็นพลุแตก ที่เป็นตำนานชีวิตของความเป็นนักเขียน ซึ่งได้รับการเล่าขานต่อกันมาคือนวนิยายเรื่อง “เทพธิดาโรงแรม”

 

“น้ำมิตรเกิดจากการสั่งสม แต่ความรักอุบัติอย่างกระทันหัน น้ำมิตรต้องผ่านการทดสอบของเวลา แต่ความรักมักบังเกิดในชั่วพริบตา ชั่วพริบตานั้นเจิดจ้าจำรัสปานใด สวยสดงดงามเพียงไหน ชั่วพริบตานั้นจะคงอยู่เป็นนิรันดร์”(โกวเล้ง)