ยูร กมลเสรีรัตน์
สงบและอบอุ่น
2. ความสุขที่บ้านแก่งเสี้ยน
ปลายปี 2553 อาจินต์ ปัญจพรรค์ย้ายไปอยู่บ้านแก่งเสี้ยน จังหวัดกาญจนบุรี ผมรู้ข่าวมาจากวีรยศ สำราญสุขทวีเวทย์ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นคนดูแลบ้านที่สุทธิสาร
บ้านแก่งเสี้ยนอยู่ในตัวเมืองกาญจนบุรี เข้าไปข้างในหมู่บ้านลึกพอสมควร มีบ้านเรือนตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ตอนนั้นยังเป็นถนนลูกรัง มีบ้านเพียงหร็อมแหร็ม มีแต่ความเวิ้งว้าง
บ้านหลังกะทัดรัด ขนาดชั้นครึ่ง ครึ่งปูน ครึ่งไม้ ยกสูงราว 2 เมตร ขนาดกะทัดรัด ตั้งเด่นอยู่บนเนินสูง มีระเบียงรับลมได้ทุกทิศ ดกดื่นด้วยหมู่ไม้สีเขียวอร่ามตา ช่างน่าอภิรมย์ยิ่งนัก น่าจะเป็นบ้านหลังเดียวที่อยู่สูงที่สุด มองลงไปข้างล่าง เห็นบ้านหลังอื่น ๆ เรียงรายอยู่ห่าง ๆ กัน ต้นไม้แผ่กิ่งใบชอุ่ม มองไปทางไหนมีแต่สีเขียวสด
เหตุที่ได้มาอยู่ที่แก่งเสี้ยน แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ผู้เป็นภรรยาเล่าให้ฟังว่า ฉลอง เจยาคม ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับอาจินต์ ปัญจพรรค์ อ่านฟ้าเมืองไทยตั้งแต่ตอนบวชอายุ 10 ขวบ ต่อมาส่งเรื่องมาลง ทั้งฟ้าเมืองไทยและฟ้ารายเดือน ย้ายมาอยู่แก่งเสี้ยน สร้างบ้านที่นี่...
“ฉลองพามาเที่ยวหลายครั้ง ตอนจะมาพี่อาจินต์ไม่อยากมา พี่มากี่ครั้ง ก็ไม่สนใจ เวลามาก็ไม่อยากลงจากรถนะ พี่อาจินต์มาแค่สองสามหน ตอนแรกไม่ได้อยู่ตรงนี้ เป็นของฉลอง ฉลองเขาเปลี่ยนให้ อยากให้อาจารย์อยู่ตรงนี้ วิวดีกว่า พอเริ่มสร้างบ้าน พี่นั่งวาดแบบ ต้องถามพี่อาจินต์ว่าบ้านไม้กว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ แล้วก็นั่งวาดแบบ วัดความกว้างยาวของบ้าน ไม้ ห้อง เพื่อเอามาวางแบบให้พอดีกับความกว้างยาวของไม้ที่มี นั่งวาดแบบทุกวัน เดี๋ยวแก้ตรงนั้น แก้ตรงนี้ บ้านหลังเดียว แก้ทุกวัน เป็นเดือนเลย”มีเสียงหัวเราะเบา ๆ ในท้ายประโยค
หากก่อนจะสร้างบ้านที่แก่งเสี้ยน อาจินต์ ปัญจพรรค์มาหลายครั้งแล้ว แต่กว่าจะมาได้ ต้องคะยั้นคะยอ เมื่อมาถึง ก็ไม่อยากลงจากรถนัก แต่ก็ต้องลงอย่างเสียไม่ได้ คงเป็นเพราะติดบ้านที่สุทธิสาร ในตอนหลังจึงเริ่มชอบที่นี่ 11 ตุลาคมปี 2554 ที่ไปเยี่ยม เป็นวันเกิดอาจินต์ ปัญจพรรค์ ครบ 84 ปี แม้คนจะมีเพียงไม่กี่
คนต่างก็ชื่นมื่นและอบอุ่น หลังจากพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์วางมือจากคอลัมน์”วาบความคิด”ในมติชนสุดสัปดาห์ ถึงเวลาพักผ่อนในบั้นปลายแล้ว แต่เขากลับบอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงกระฉับกระเฉงว่า ในเวลานี้เขียนที่หนังสือ “ดนตรี เพลง” มี นิวัติ กองเพียร สมญานาม “เกจินู้ด” เป็นบรรณาธิการ
“เป็นหนังสือของมหิดล” นิวัติ-เกจินู้ด มาขอให้ผมเขียน ผมรักเขา ก็เลยเขียนให้ อย่างผมเขียนถึงเพลงที่ร้องว่า “เด็กเอ๋ยเด็กดี” ว่าเป็นมาอย่างไร ชื่อเพลง “หน้าที่เด็ก” พี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญยพรรค์) เป็นคนแต่งสมัยจอมพลป.(แปลก พิบูลสงคราม) ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง”
ในบางโอกาสผู้เป็นศรีภรรยาจะขับรถพาอาจินต์ ปัญจพรรค์ไปในตัวเมืองเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อไม่ให้จำเจอยู่กับบ้าน ประเดี๋ยวจะเบื่อ ร้านที่นักเขียนอาวุโสผู้นี้ชอบไปนั่งเป็นประจำคือร้านปังเตี๋ยวเต๊ก”
“ร้านปังเตี๋ยวเต๊ก ขายขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว สเต๊ก” ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์" พูดขึ้นเสียงดังด้วยรอยยิ้ม “ภายในร้านมีรูปในหลวงกับเอลลวิส”
“ที่นี่ เวลาหน้าหนาว หมอกลง ดวงอาทิตย์ตกสวยมาก” แน่งน้อย ปัญจพรรค์เอ่ยขึ้น
ฤดูกาลนี้ต้นไม้เขียวครึ้ม สดชื่นเหลือเกิน รู้สึกดีใจแทน อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่มาปักอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ เหมาะกับบั้นปลายชีวิต ซึ่งเป็นวัยที่ควรแก่การพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่สงบเงียบ หลังจากตรากตรำกรำงานและย่ำรอยเท้าผ่านกาลเวลามาเป็นเวลายาวนาน
สักครู่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ลุกขึ้นเดินเข้าไปข้างในบ้าน หยิบสมุดติดมือมายื่นหน้าที่กางออกให้ ในสมุดเขียนเป็นบทกลอนหลายบทด้วยลายมือยุกยิก บอกให้ผมอ่านออกเสียง ผมเพ่งมองพลางอ่านให้ฟังติด ๆ ขัด ๆ พอหยุดเพ่งมอง เพราะอ่านไม่ออก อาจินต์ ปัญพรรค์จะคอยบอกกำกับ...
“กลอนไม่เพราะจดเฉพาะความเป็นจริง
ไม่มีสิ่งสุนทรีย์ที่บ้านพัก
มีแต่ความรู้สึกนึกตระหนัก
และสิ่งที่เห็นประจักษ์ธรรมดา
วันที่สิบสองพฤศจิกา
ข้าไม่มีเวทย์มนตร์หรือคาถา
มาทำให้ ‘อาจินต์’ จินตนา
ตามประสาคนชราผู้ถ่อมตัว
นึกถึงกลอนก่อนแต่เมื่อเราเด็ก
มีคำว่า ‘เจ๊ก’จำได้อยู่ในหัว
หวยหลง โรงสี รับชมแต้หนี
พะตีพาย พะเห่ร้องไห้อยู่ในรั้ว
บ้านแก่งเสี้ยนเวียนหัวมัวคิดไป
เวลาสายเกือบเที่ยงเลี่ยงไม่พ้น
เหงาฉงนฉลาดโง่โม้หรือใบ้
เกิดมานานงานและเล่นที่เป็นไป
มีสิ่งไรที่อยากฝากหรือทิ้ง
ที่อยากทิ้งทิ้งไปไม่ต้องจด
หรือว่าควรจดไว้เป็นอย่างยิ่ง
สิ่งควรทิ้งนั่นแหละจงอย่าทิ้ง จงเปิดเผยความจริงไม่รีรอ
อยากจะทิ้งสิ่งที่ทำให้รีไทร์
เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยเงินพ่อ
ฉันทดแทนพระคุณอย่างบ้าบอ
หนุ่มตะกอดูหนังและฟังเพลง
เฉลิมกรุงเฉลิมบุรีมีบันเทิง
มันร่าเริงเลียนแบบว่าข้าเก่ง
ไม่เล่าเรียนตำราบ้าไปเอง
ไม่คร่ำเคร่งวิชาหนึ่งจึงรีไทร์
แคลคูลัสเล่มใหญ่ไม่รู้เรื่อง
เหตุผลเนื่องจากหนีชั่วโมงแรก
ความต่อเนื่องเหลวแหลกหลักสูตรเหมือง
แคลคูลัสวิชาเดียวเขี้ยวลากเมือง
ไม่รู้เรื่องผมนี้จึงรีไทร์
ผมอ่านท้ายบทกลอนที่แต่งว่า “วันที่ 12 พฤศิจายน 2554” ส่วนกลอนบทอื่น ๆ อีกหลายชิ้นไม่ได้อ่านต่อ แต่ผมก็ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
“คนจะเป็นนักเขียนต้องอ่านให้มาก แต่อ่านให้มาก ยังไม่เท่ากับเขียนให้มากและรู้สึกให้มาก”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)