รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ตามที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” ได้แถลงนโยบายเร่งด่วน 5 ข้อ ต่อรัฐสภาและระบุว่าจะลงมือทำทันที ประกอบด้วยนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นโยบายการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน นโยบายการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว และนโยบายการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นออนไลน์กับประชาชนทั่วประทศ จำนวน 1,358 คน ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน หัวข้อ “5 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลเศรษฐา” มีประเด็นคำถาม 3 ข้อ คือ 1) ท่านคิดอย่างไร กับ “5 นโยบายเร่งด่วน” ที่รัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินการทันที 2) ท่านคิดว่า “5 นโยบายเร่งด่วน” ที่รัฐบาลประกาศ จะทำสำเร็จหรือไม่ และ 3) นอกจาก 5 นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเศรษฐาประกาศ ท่านอยากให้ทำนโยบายใดเพิ่มเติม ผลการสำรวจพบว่า

นโยบายที่ควรดำเนินการเร่งด่วนที่สุด คือ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน (ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า) ร้อยละ 86.00 รองลงมา คือ การแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ร้อยละ 72.69  เงินดิจิทัล 10,000 บาท ร้อยละ 63.95 การผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว ร้อยละ 53.07 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร้อยละ 30.85

นโยบายที่คาดว่าน่าจะทำได้สำเร็จมากที่สุด คือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ร้อยละ 63.68 รองลงมาคือ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ร้อยละ 62.46 การผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยว ร้อยละ 60.78 การแก้ปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ร้อยละ 51.28 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร้อยละ 22.66

สิ่งที่ประชาชนอยากให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติมมากที่สุด คือ การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง ร้อยละ 52.03 รองลงมาคือการปราบปรามการทุจริต การรับสินบน ร้อยละ 47.38 การพัฒนาระบบสาธารณสุข ดูแลสุขภาพประชาชน ร้อยละ 43.02 การปฏิรูปการศึกษาไทย ร้อยละ 38.95 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ร้อยละ 36.05

เมื่อพิจารณานโยบายเร่งด่วน 5 ข้อ ของรัฐบาลเศรษฐา 1 พบว่า เป็นนโยบายเชิงเศรษฐกิจเกือบทุกข้อ ยกเว้น ข้อสุดท้ายซึ่งเป็นนโยบายด้านการเมืองการปกครอง เหตุผลหลักที่รัฐบาลต้องชูธงนโยบายเศรษฐกิจนำ คงเป็นเพราะต้องการเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่ใกล้ตัวที่สุดของประชาชนให้เห็นผลเชิงประจักษ์อย่างรวดเร็ว หวังกอบกู้เครดิตที่ปลิวหายจากกรณีปมปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่มีหน้าตาคล้ายรัฐบาล(ทหาร)ชุดเก่าแลกมาด้วยเหลี่ยมหลายดอกจนประชาชนไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อใจ โดยเฉพาะการวางตัวรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่ได้มาด้วยข้อจำกัดของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

แต่ที่สำคัญสุดสุดก็คือ รัฐบาลชุดนี้หวังอยู่แบบลากยาวจบครบเทอม 4 ปี เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างเทหมด หน้าตักกันแล้ว ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่สื่อต่างประเทศอย่าง VOA  ก็รายงานว่า “สื่อทั่วโลกจับตาดูการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศผ่านแผนงานกระตุ้นต่าง ๆ ที่มีทั้ง การแจกเงินสดและการเพิ่มงบใช้จ่ายทั้งหลาย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังขาว่า มาตรการทั้งหลายจะเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเพียงใด”

ด้าน นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ก็เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของรัฐบาลเศรษฐา 1 ว่า “ผู้ที่ได้ประโยชน์คือ ประชาชน และถือเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อระดับเงินเฟ้อของประเทศ ส่วนในด้านการลงทุนแล้วนโยบายนี้อาจไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการทำกำไรของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน “กลุ่มสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากนโยบายนี้”

สำหรับนโยบายการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนสนใจจับตามอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้จัดการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2562 และ 2566 แต่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งกลับไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากตัวบทเฉพาะกาลกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน มีอำนาจร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 500 คน ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียงขึ้นไป

 ดูทีท่าแล้วการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จในรัฐบาลนี้คงไม่ง่าย ด้วยที่ผ่านมาเคยมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่แล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็แก้ไขได้เพียงระบบเลือกตั้งเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรกที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ก.ย. พบว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560  ไม่มีความชัดเจนเรื่องการทำประชามติ ซึ่งมติ ครม. ที่ออกมาเป็นเพียงการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทาง” เท่านั้น และไม่มีการเปิดเผยกรอบเวลาในการทำงานแต่อย่างใด

โดยทั่วไปนั้น การมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความหวังของประชาชน เพราะเป็นการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลที่จะเข้ามาทำงานให้กับประชาชนและทุกภาคส่วน แต่รัฐบาลชุดนี้ ดูแล้ว “ไร้หวือหวา” แต่ยังคงต้องแบกความหวังของคนไทยทั้งประเทศอยู่ดี เป็นกำลังใจให้กับรัฐบาลเศรษฐา 1 ด้วยกันครับ...