นายชวน หลักภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาเรื่อง “ฉากทัศน์ประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาล” ในงานเสวนานำเสนอยุทธศาสตร์ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้ระบบการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง(พตส.) รุ่นที่ 13 ว่า 

“...ได้ย้ำเรื่องนี้ระหว่างเป็นประธานสภา ซึ่งทำโครงการบ้านเมืองสุจริต โดยใช้คำว่าประเทศรุ่งเรืองเมื่อบ้านเมืองสุจริต ได้ย้ำกับเลขาสถาบันพระปกเกล้าว่า ทุกหลักสูตรต้องตรวจสอบว่าคนมาเรียนนั้นได้กู้ กยศ.หรือไม่ ถ้ากู้แล้วไม่คืนก็ไม่รับ เพราะมาเรียนได้อย่างไร แค่เริ่มต้นด้วยการโกง ถ้าไม่มีงานไม่มีเงิน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อมีงานทำแล้ว รายได้เป็นแสน เป็นล้านก็มี แต่ไม่คืน กยศ. แบบนี้ สถาบันพระปกเกล้าต้องกำหนดเงื่อนไขพิเศษ และขอให้เลขาฯ บรรยายในชั่งโมงแรกเลย เพราะไม่อยากให้คนที่จบหลักสูตรแล้ว ความรู้ดีกว่าเดิม แต่ทุกจริตเก่งกว่าเดิม อยากให้หลักสูตรสร้างคนดี ถ้าคนสีเทาเข้ามาก็อยากให้ออกไปเป็นสีใส ส่วนสีใสที่เข้ามาไม่อยากให้ออกไปสีเทา”

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.  เริ่มต้นครั้งแรกตามนโยบายของรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่แถลงต่อรัฐบาลเมื่อ วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2535 เพื่อเป็นโอกาสให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาต่อ

โดยปัจจุบัน กยศ. ได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1,138,102 ราย

- ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,819,051 ราย

- ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,548,923 ราย

- ผู้กู้ยืมเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,518 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566)

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2566 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ขยายกรอบการให้กู้ยืม จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 643,256 ราย เนื่องจากมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 117,000 ราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 760,256 ราย เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มีข้อมูลการรับชำระหนี้ลดลงจากเดิม 28,000 ล้านบาท มาเหลือ 25,000 ล้านบาท จากปัญหาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้กู้มีมากขึ้น

แนวทางในการแก้ไขปัญหา ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม  มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. ผ่านโครงการ Quick win ของกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นโครงการเร่งด่วน โดยเบื้องต้นกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จะทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดี เพื่องดการบังคับคดีออกไปก่อน ในระหว่างที่รอออกระเบียบฉบับใหม่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งจะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และวิธีการชำระหนี้

กระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากการสร้างงาน สร้างราได้ และปลูกฝังวินัยทางการเงิน ยังต้องบ่มเพาะจริยธรรม