เสือตัวที่ 6

ขบวนการแบ่งแยกการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับแนวทางการต่อสู้แบบเดิมๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะแนวทางการต่อสู้ที่ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในกลยุทธ์การต่อสู้ของพวกเขาที่มีต่อรัฐไทยนั่นก็หมายความว่าองค์กรที่กำลังเป็นแกนนำการต่อสู้กับรัฐเป็นองค์กรที่มีชีวิตที่พร้อมจะเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐตลอดเวลา เพื่อให้คงความได้เปรียบในสมรภูมิแห่งนี้อยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด และองค์กรหลักในการต่อสู้กับรัฐแห่งนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นองค์กรที่เรียกตนเองว่าขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี(BRN) ที่ก่อตั้งเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2503 โดยอุสตาซ อับดุลการิม ฮัสซันและวิวัฒนาการการโครงสร้างองค์กรพร้อมกับการปรับกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์บริบทการต่อสู้ของพวกเขาอย่างมีชีวิตจากแผนบันได 7 ขั้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่หมายจะจบลงที่การต่อสู้ด้วยอาวุธ   อันเป็นจุดสุดยอดของการต่อสู้ของประชาชน หากแต่ว่าแผนการตามกลยุทธ์นั้นล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง กลุ่มแกนนำขบวนการ BRNจึงปรับกลยุทธ์ไปเป็นการมุ่งต่อสู้ด้วยอาวุธไป ควบคู่กับการเจรจากับรัฐไทย ไปแบบคู่ขนานตามกลยุทธ์เดินสองขาอย่างกลมกลืนวิวัฒนาการการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งการบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งต่อกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการเข้าสู่อำนาจรัฐ

นิมะตุลเลาะ บิน เสรี (Nikmatullah bin Seri) คณะเจรจาสันติภาพของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ได้ร่วมสนทนาไลฟ์สดผ่านทางเพจ People's College และ The PEN เมื่อปลายปี 2565 มีสาระสำคัญคือ การยกคำสอนของศาสนาอิสลามว่า การต่อสู้เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติ ดังนั้น BRNที่ต่อสู้ในทางศาสนาอิสลามจึงต้องการทำลายการเหยียดเชื้อชาติด้วยเนื่องจากต้นเหตุของความขัดแย้งในโลกนี้     มาจากความรู้สึกหยิ่งยโส รู้สึกว่าตนเองยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามของศาสนาอิสลามนั้น BRN จึงยึดมั่นในหลักคำสอนนี้ เพราะการเหยียดนั้นขัดกับหลักของความยุติธรรม และสหประชาชาติเองก็มองว่า การที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกนี้ได้นั้น จำเป็นต้องกำจัดความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติออกไปให้ได้ ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติยังมีอยู่ความสงบสุขและสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นกลยุทธ์การต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการ BRN จึงต้องดำรงอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุดแม้ว่าการเจรจาสันติภาพกับรัฐไทยยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นก็ตามและพื้นที่ในปลายด้ามขวานเป็นแผ่นดินเกิดของคนในพื้นที่เขาจึงอ้างว่าปรัชญาการต่อสู้ของ BRNเกิดขึ้นเพราะมีการยึดครองของคนเชื้อชาติหนึ่งเหนืออีกเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งในบริบทของนี้ BRN ต้องสำนึกอยู่ตลอดว่า สาเหตุของความขัดแย้งในพื้นที่ปลายด้ามขวานที่มีอยู่นั้น มันไม่ใช่อื่นใดนอกจากการกดขี่ข่มเหงของคนเชื้อชาติหนึ่งต่อคนอีกเชื้อชาติหนึ่งซึ่งพวกเขาต้องต่อสู้ในทุกวิถีทางจนกว่าจะได้อำนาจการปกครองกันเองอย่างสมบูรณ์ (เอกราช)

นิมะตุลเลาะ ยังกล่าวเน้นย้ำว่า  BRN ได้วางกลยุทธ์การต่อสู้ คือ การต่อสู้ด้วยอาวุธควบคู่กับการมุ่งสู่สันติภาพ นั่นคือต่อสู้ด้วยอาวุธแล้วก็พูดคุย (เจรจาสันติภาพกับรัฐไทย) แต่ไม่ใช่จะสู้รบด้วยอาวุธกันอย่างเดียว เพราะแนวทางการญีฮาด (การต่อสู้ในทางศาสนา) ไม่ได้มีแค่การต่อสู้ด้วยอาวุธเท่านั้น หากแต่การพูดคุยเจรจาก็เป็นแนวทางญีฮาดด้วย การญีฮาดบางครั้งก็ด้วยการพูดคุยต่อรอง เป็นการญีฮาดด้วยความจริง แต่ในสายทหาร(กองกำลังติดอาวุธ) ของ BRN นั้นเขาญีฮาดด้วยการใช้อาวุธในการต่อสู้ แต่การต่อสู้ด้วยอาวุธนั้นมีเป้าหมายก็เพื่อให้เกิดสันติภาพ เป็นแรงส่งไปหนุนเสริมความได้เปรียบในการเจรจาให้คงอำนาจการต่อรองกับรัฐเอาไว้ในเหนือกว่านั่นเอง การเจรจาต่อรองก็มีโอกาสบรรลุผลตามที่กลุ่ม BRN ต้องการในที่สุด ดังนั้น การกระตือรือร้นที่จะสร้างสันติภาพ ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธในทุกรูปแบบด้วยและยังเน้นว่า ถ้าไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ไม่มีสันติภาพ แม้จะมีความสงบแต่ก็ไม่มีสันติภาพ

นั่นก็หมายความว่า การใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ที่ใช้จำนวนครั้งในการเกิดเหตุรุนแรงนั้นอาจไม่สามารถบ่งบอกได้ เพราะความสงบจากการก่อเหตุที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นความสงบที่ไม่ใช่สันติภาพในความหมายของแกนนำขบวนการร้ายแห่งนี้ ทำให้ท่ามกลางความสงบราบเรียบที่ความรุนแรงน้อยลงนี้จึงไม่อาจไว้วางใจได้ ด้วยเมื่อใดที่แกนนำต้องการใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นตัวหนุนเสริมผลักดันการต่อสู้ด้วยการเจรจา หรือการผลักดันนโยบายระดับชาติให้เป็นไปในแนวทาง ที่กลุ่มแกนนำขบวนการ BRN ต้องการแล้ว พวกเขาก็สามารถก่อเหตุรุนแรงได้อย่างมืออาชีพ ในขณะเดียวกันแกนนำขบวนการนี้ก็ปรับกลยุทธ์การต่อสู้ไปในแนวทางการต่อสู้ทางความคิด ปลุกเร้ามวลชนทุกระดับให้เห็นพ้องกับการต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้อย่างทรงพลัง

ท่ามกลางความสงบเงียบที่ยังคงความคุกรุ่นของสงครามในรูปแบบของกลยุทธ์ที่แกนนำขบวนการวางไว้ และพร้อมที่จะถาโถมเข้าใส่รัฐเมื่อโอกาสอำนวย การต่อสู้ด้วยอาวุธตามแผนบันได้ 7 ขั้น สู่การต่อสู้ด้วยอาวุธไป ควบคู่การเจรจาไปอย่างกลมกลืนวิวัฒนาการไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างสุดโต่ง ผ่านการขับเคลื่อนทุกรูปแบบ ทั้งการจัดกิจกรรมแอบแฝงความแตกแยกกับรัฐโดยเยาวชนและนักศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สู่การจัดกิจกรรมลงประชามติกำหนดใจด้วยตนเอง (RSD) ของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติรวมทั้งการเข้าสู่อำนาจรัฐที่หนุนเสริมด้วยพรรคการเมืองบางพรรค ตลอดจนความพยายามในการผลักดันนโยบายที่ เอื้อประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายเอกราชของขบวนการ BRN เหล่านี้คือการต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ที่มีชีวิตชีวา ด้วยการปรับกลยุทธ์การต่อสู้กับรัฐอย่างต่อเนื่องและลุ่มลึก